กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Rajavithi Service Hacking ให้นักศึกษาสาขาต่างๆ ของ มจพ.และนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ จำนวน 140 คน ร่วมกันบูรณาการความรู้ที่ได้จาก การเรียนรู้ในสถาบันทางการศึกษาเพื่อออกแบบการแก้ไขปัญหาภายในโรงพยาบาลในหัวข้อ "ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือพิเศษ" และแสวงหาโอกาสในการสร้างธุรกิจทางด้าน Health Tech Startup ซึ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและไทยแลนด์ 4.0 กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. โดยมี รองศาสตราจารย์ สุรพันธ์ ยิ้มมั่น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ พร้อมด้วย ดร.พีรพงษ์ พรวงศ์ทอง อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ เข้าร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักศึกษา ซึ่งกิจกรรมประกอบไปด้วย การบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ได้รับเกียรติจากคุณเฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด บริษัทสัญชาติไทย 100% พัฒนาหุ่นยนต์บริการในเชิงพาณิชย์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย บรรยายในหัวข้อ "ธุรกิจหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์" และ Professor Dr.Mathias Lindemann นักวิชาการชาวเยอรมันจาก University of Applied Science Bremerhaven ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) และกระบวนการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid Control Prototyping) ในเทคโนโลยีทางแพทย์ มาบรรยายในหัวข้อ "Embedded System in Medical Application" และทีมงานจาก Lean Startup Thailand เป็นวิทยากรให้คำแนะนำกับผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมโดยจัดกลุ่มระดมความคิดเพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมประกวดและนำเสนอต้นแบบนวัตกรรมให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินเพื่อคัดเลือกโครงการต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นธุรกิจได้จริง อีกทั้งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ University of Applied Science Bremerhaven ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โรงพยาบาลราชวิถี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างนักศึกษาพันธุ์ใหม่ที่ตรงตามความต้องการของประเทศและตอบโจทย์การจัดการศึกษาของรัฐบาลที่มุ่งบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างแท้จริง ณ โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันก่อน