กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการ "โคบาลบูรพา" ณ จังหวัดสระแก้ว ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการ "โคบาลบูรพา" ในเขต อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมและแหล่งเลี้ยงโคเนื้อที่สำคัญทางภาคตะวันออก มีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงโคเนื้อ เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ สามารถเพิ่มผลผลิต ลดการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเขตปลอดโรคปากเท้าเปื่อยและสร้างโอกาสในการส่งออกตลาด AEC ได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการ "โคบาลบูรพา" เป็นโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์นโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาล โดยจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโค-แพะ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มุ่งเน้นที่จะประสานความร่วมมือกับเกษตรกรและรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งและร่วมสร้างอาชีพใหม่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยการฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน การเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการฟาร์มที่ดี เตรียมพื้นที่ เตรียมคอก เตรียมเสบียงสัตว์และแหล่งน้ำเพื่อใช้ในฟาร์มของเกษตรกรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ก็มีความพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการ
ทั้งนี้ โครงการ "โคบาลบูรพา" มีการดำเนินการใน 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก เป้าหมายระยะแรกเกษตรกร 6,000 ราย สนับสนุนแม่โคเนื้อ รายละ 5 ตัว เป้าหมายโคเนื้อ รวม 30,000 ตัว ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 61) การดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรไปแล้ว 1,388 ราย รายละ 5 ตัว รวมเป็นจำนวน 6,940 ตัว มีเกษตรกรทำแปลงพืชอาหารสัตว์ 2,612 ราย จำนวน 13,060 ไร่ ในการนี้ กรมปศุสัตว์ได้จ่ายเงินอุดหนุนการทำแปลงพืชอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 1,182 ราย เป็นเงินจำนวน 11,820,000 บาท สำหรับเกษตรกรสร้างโรงเรือน จำนวน 2,620 หลัง ส่วนการโอนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้น เป็นค่าสร้างโรงเรือนโคเนื้อ 2,100 ราย จำนวน 105,000,000 บาท เป็นค่าสร้างโรงเรือนแพะ 50 ราย จำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนกิจกรรมที่ 2 คือ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ โดยมีเป้าหมายระยะแรกเกษตรกร 100 ราย สนับสนุนแพะเพศเมีย รายละ 30 ตัว เพศผู้รายละ 2 ตัว รวมทั้งสิ้น 32 ตัวต่อราย และให้เงินกู้ยืมจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ยตลอดโครงการฯ เป็นค่าขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อตอก หรือบ่อน้ำตื้น 2,150 ราย จำนวน 17,200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 127,200,000 บาท นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ผสมเทียมโคไปแล้ว จำนวน 316 ตัว และได้รับรายงานว่ามีลูกเกิดจำนวน 33 ตัว ซึ่งเป็นลูกที่ติดท้องมา เป็นเพศผู้ 19 ตัว เพศเมีย 14 ตัว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ มีความตั้งใจที่จะยกระดับการเลี้ยงโคเนื้อให้เข้าสู่มาตรฐานสากล มุ่งหวังให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อ จะทำให้เป็นศูนย์กลางในการทำการตลาด ซึ่งยังคงมีความต้องการบริโภคภายในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก โดยจะผลิตเนื้อที่มีคุณภาพและส่งไปตลาดตามเมืองท่องเที่ยว และตั้งเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา เวียดนาม และจีน เป็นต้น กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดโรคระบาดสัตว์ที่ร้ายแรง การนำโคหรือสัตว์เข้ามาในพื้นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทาง จะต้องมีการป้องกันโรคและกักไว้ 30 วันก่อนที่จะนำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งหากสามารถประกาศให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเขตปลอดโรคระบาดสัตว์ได้ จะสามารถส่งออกและเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศได้ต่อไป
"สำหรับโคเนื้อ แพะเนื้อ ที่ทางราชการสนับสนุนให้พี่น้องเกษตรกรนั้น ขอให้พี่น้องเกษตรกรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด มีความรัก ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันภายในกลุ่ม และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ซึ่งจะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จในที่สุด และที่สำคัญพี่น้องเกษตรกรในรุ่นต่อไปยังรอรับโคจากท่านอยู่ ถ้าหากมีปัญหา อุปสรรค ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทันที ซึ่งกรมปศุสัตว์จะได้นำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆไปสู่พี่น้องเกษตรกร โดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกษตรกรได้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไปพร้อม ๆ กัน" นายลักษณ์ กล่าว