กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เสนอแนวคิด "ทิศทางการเรียนรู้" เป็นแนวทางการจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้แห่งชาติ แนะภาครัฐมอง "ตัวผู้เรียน" เป็นสำคัญ
อ.ธรณชนก เอื้อไพโรจน์กิจ, ภญ.ดร.ฝน นิลเขต และ ดร.วาสนา ศรีปรัชญาอนันต์ คณะวิจัยจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิจัยทบทวนมาตรฐานการศึกษาของไทยปี พ.ศ.2548 โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้การสนับสนุน เพื่อวิเคราะห์มาตรฐานการศึกษาในบริบทของไทยและต่างประเทศ รวมถึงพิจารณาปัจจัยที่ถูกมองข้ามและจุดด้อยของมาตรฐานการศึกษาไทย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอแนวคิดเรื่อง "ทิศทางการเรียนรู้" ซึ่งจะตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น
อ.ธรณชนก หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ที่ใช้ในไทยยังยึดอยู่กับหลักสูตรแกนกลาง จึงมีความเฉพาะเจาะจงกับเนื้อหาในหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งสองมาตรฐานกลับถูกนำไปใช้ในการควบคุมคุณภาพการศึกษาของไทยในระบบเป็นหลัก ทั้งๆ ที่การศึกษาในระบบเป็นเพียงบางส่วนของการพัฒนามนุษย์ (Human Development) เท่านั้น
"การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกวัย และทุกสถานที่ อีกทั้งบริบทแวดล้อมหลายอย่างของสังคมโลกที่เปลี่ยนไปยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อหาสมดุลให้เจอว่าประเทศไทยต้องการให้เยาวชนที่กำลังออกไปสู่โลกแห่งการทำงานมีคุณลักษณะอย่างไร"
ทีมวิจัยจึงได้เสนอคำว่า ทิศทางการเรียนรู้ (Learning Compass) ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการวางทิศทางนโยบายของการศึกษาไทยแก่ สกศ. ซึ่งคำนี้จะมีความยืดหยุ่นและครอบคลุมถึงเด็กที่ไม่ได้อยู่กับการศึกษาในระบบด้วย อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยชุดนี้ยืนยันว่า คำว่าทิศทางการเรียนรู้ ไม่ได้ถูกเสนอให้ใช้แทนคำว่ามาตรฐานการศึกษาหรือมาตรฐานการเรียนรู้ แต่เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กได้ตามบริบทของพื้นที่ได้เหมาะสมยิ่งขึ้นเท่านั้น
ภญ. ดร. ฝน เสริมว่า การเรียนรู้ของมนุษย์มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ประการ คือ ปัจจัยของด้านชีววิทยา และ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เด็กแต่ละคนถูกหล่อหลอมมา ซึ่งปัจจัยหลังคือสิ่งที่ทางคณะวิจัยพยายามทำความเข้าใจทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพราะความแตกต่างทางด้านบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปก็สามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้เช่นกัน
ดร. วาสนา อีกหนึ่งในทีมวิจัย ได้อธิบายถึงบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 ประเด็นที่น่าคำนึงถึง ดังนี้
โลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดการปะทะในเรื่องค่านิยมระหว่างช่วงวัยที่ต่างกัน ประเด็น
ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital native) เด็กและเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว ถือเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด ผู้สอนจึงต้องปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กและใช้สื่อให้พอเหมาะ
ความสุขทันทีในโลกที่เชื่อมต่ออย่างฉับไว (Instant gratification/ Hyperconnected world) การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ในชีวิตประจำวันที่เป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทำให้เกิดความเคยชินต่อการตัดสินใจโดยตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ไตร่ตรองเพียงพอ
กระแสการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Growth momentum) หมายถึงค่านิยมของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่งข้อดีคือเยาวชนเริ่มมีความคิดที่ชัดเจนในตัวเองมากขึ้น แต่อาจเกิดความกดดันกับตัวเอง และคาดหวังการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนตลอดเวลา ทำให้เนื้องานบางส่วนก็จะถูกลดทอนคุณค่าไปด้วย
ดร. วาสนา กล่าวต่อว่า การจัดทำข้อเสนอดังกล่าวนั้น ทางทีมได้วิเคราะห์กรณีศึกษาประเทศที่ได้วางนโยบายสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน และกำหนดทิศทางร่วมสำหรับการพัฒนาในทุกภาคส่วน ซึ่งทีมวิจัยได้มุ่งไปที่ สิงคโปร์ และ ออสเตรเลีย พบว่า ทั้งสองประเทศมีแนวคิดที่คล้ายกัน โดยเฉพาะการเน้นเป้าหมายใหญ่ที่ "ตัวบุคคล" หรือ "ตัวผู้เรียน" เป็นหลัก เน้นสร้างผู้เรียนที่สามารถรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง มีความเชื่อมั่นรู้จักตัวเอง กล้าคิดอย่างอิสระ เป็นพลเมืองที่มีสำนึกต่อหน้าที่ของตัวเองและส่วนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ การทำงานภาคนโยบายในระดับองค์กรย่อยของระบบการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ ก็ยังมีเป้าหมายร่วมกันและทำงานสอดรับกันในระยะยาว ทั้งในระดับนโยบายและองค์กร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังเป็นจุดด้อยของประเทศไทยมาตลอด
ข้อคำนึงในการจัดทำทิศทางการเรียนรู้ (Learning Compass) ที่ทีมวิจัยจาก มธ. วิเคราะห์มานั้น สรุปได้ว่า 1). ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะการพัฒนา และปัจจัยทางสังคมส่งผลต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 2). มุ่งเน้นไปที่ตัวผู้เรียน ระบุคุณลักษณะและทักษะในการรับมือความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง 3). ครอบคลุมการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ 4). เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางเป้าหมายในเชิงผลลัพธ์ด้านการจัดการศึกษาและส่งเสริมความรู้ในด้านคุณลักษณะของพลเมืองที่พึงประสงค์ 5). มีการอธิบายคุณลักษณะและทักษะที่พึงประสงค์อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายร่วมตรงกัน แต่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่กว้างพอต่อการประยุกต์ในบริบทที่หลากหลายของผู้เรียน และ 6). เข้าใจบริบทและสภาวการณ์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนกลุ่มเล็ก เช่น เด็กชายขอบ เยาวชนที่เคยต้องโทษ นักเรียนที่ออกกลางคัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพบางอย่างที่สังคมอาจยังไม่เล็งเห็น เพื่อดึงกลับเข้ามาเป็นทุนทางสังคม
ซึ่งทิศทางการเรียนรู้ซึ่งเน้นผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียนจะให้อิสระกับผู้สอนมากพอสมควร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของผู้เรียน อย่างไรก็ตาม การใส่ใจพัฒนาคุณภาพของผู้สอนถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน