กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการาแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำและชี้แจงหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยเน้นให้เพิ่มสัดส่วนการใช้อย่างในโครงการภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สงขลา และบึงกาฬ ซึ่งที่การประชุมครั้งนี้จะได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการกับ อบจ.จังหวัดอื่นๆ ด้วย ที่อาจจะยังติดขัดในเรื่องการใช้งบประมาณจาก 2 แหล่ง คือ เงินสะสมของ อบจ. และงบสำรองจ่าย 25% ก็มีการแจ้งเวียนระเบียบปฏิบัติในการใช้ที่ชัดเจนแล้ว รวมถึงคุณสมบัติของยางที่นำมาใช้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรฐาน มอก. สำหรับยางแผ่นแล้ว ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐสามารถใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมปูพื้น/พื้นถนนต่างๆได้ ซึ่งแม้ว่าอาจส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่แลกกับความทนทาน อายุการใช้งานยาวนานขึ้น เกษตรได้รับรายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกัน ยังถือโอกาสชี้แจงถึงแหล่งซื้อยางที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่ามีน้อยและไม่เพียงพอนั้น ได้แจ้งว่าสามารถซื้อได้จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือสถาบันเกษตรกรที่กยท.รับรอง เพื่อที่จะได้อุดหนุนเกษตรกรโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่กยท.รับรองกว่า 800 แห่ง กระจายอยู่ กว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ
นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาขณะนี้ก็เพื่อทำให้ปริมาณความต้องการใช้อย่างทั้งในและนอกประเทศมีความสมดุลกันกับผลผลิตยางในแต่ละปี จากปัจจุบันปริมาณผลผลิตยางในประเทศ 4.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีการส่งออกที่ประมาณ 3.8-4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะต้องลดปริมาณผลผลิตยางลงอีก 1 ล้านตันต่อปี มาอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี โดยยังคงเป้าหมายที่จะไม่เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการโค่นยาง เพียงแต่ให้ทางเลือกเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทน หรือปลูกเสริม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการลดกรีดยางที่ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้โดยมี 2 แนวทางที่จะพิจารณา คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งนี้ มาตรการหยุดกรีดยางนั้นไทยจะไม่ทำเพียงประเทศเดียวแต่จะนำไปหารือกับผู้ผลิตยางรายใหญ่อีก 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามในวันศุกร์ (2 มี.ค.) นี้ รวมถึงประเทศอินเดียซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มมียางออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นด้วย หากทางอินเดียสนใจก็จะเชิญหารือร่วมกันด้วย
"สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ คิดและดำเนินการยังคงเน้นมาตรการที่จะต้องไม่กระทบกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ และงบประมาณประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและเน้นย้ำไม่ให้เอาตัวเลขราคาพืชผลมาใช้หาเสียงหรือสร้างผลงาน แล้วต้องทำอะไรผิดระบบงบประมาณ ทำลายเศรษฐกิจ แต่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการอย่างถูกต้อง ให้ชาวสวนยางรวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ดำรงอยู่ได้ แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่ส่งผลต่อราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ราคาจะต้องมีเสถียรภาพ และที่สำคัญอีกมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการใช้อำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาดูกลไกราคายางพาราได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการราคายาง ที่มีอำนาจนหน้าที่ดูต้นทุนการผลิตยาง ราคาเหมาะสมรับซื้อ และราคาส่งออก โดยองค์ประกอบของกรรมการประกอบด้วย ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยาง" นายกฤษฎา กล่าว