กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--TK park
หวังจุดประกายความสนใจเยาวชนให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้
ความรู้ใหม่ๆ จากผลงานวิจัยเล่มโตๆ ที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้รู้จากวงการต่างๆ ได้ศึกษาค้นคว้า ทดลองกันนั้น มักจะได้ยินบ่อยๆ ว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้ง เพราะเมื่อค้นคว้า วิจัยเสร็จแล้วก็ไม่ได้นำความรู้เหล่านั้นมาเผยแพร่ ความรู้ต่างๆ จึงยังคงอยู่ในหนังสือเล่มหนาๆ โตๆ ที่น้อยคนจะสนใจเปิดอ่าน!!!
แต่วันนี้อุทยานการเรียนรู้ TK park และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จับมือร่วมกันย่อยความรู้จากหนังสือเล่มหนาๆ ออกมาเป็นสาระบันเทิงให้น้องๆ ได้สนุกสนานกับการเรียนรู้ในรูปแบบคลิปวิดิโอภายใต้ชื่อชุด "รายการวิจัยวาไรตี้" ผ่านโครงการ "การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเรียนรู้งานวิจัย" และพร้อมส่งต่อความรู้บนโลกออนไลน์ ให้เด็กๆ และเยาวชนเข้าไปสืบค้นข้อมูล สาระความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ได้อย่างไร้ข้อจำกัด รวมไปถึงสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแค่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์สื่อสร้างสรรค์ทาง www.tv.trf.or.th
ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมาอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ร่วมกับ สกว. ในการนำเนื้อหางานวิจัย มาสร้างสรรค์เป็นนิทรรศการมีชีวิตในลักษณะชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ โดยออกแบบและจัดทำเนื้อหาอย่างเหมาะสม พร้อมออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจให้แก่เนื้อหาต่างๆ เพื่อจุดประกายความสนใจและสร้างให้เกิดการค้นคว้าและต่อยอดความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันชุดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ของอุทยานการเรียนรู้ TK park มีจำนวนไม่น้อยกว่า 80 หัวข้อ โดยให้ความรู้กับผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 600,000 คน ทั้งผู้ใช้บริการของอุทยานการเรียนรู้ TK park รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษา และห้องสมุดต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้มีการขยายผลและส่งต่อองค์ความรู้ ผ่านบริการให้ยืมชุดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ การดาวน์โหลดไฟล์ชุดนิทรรศการและคู่มือกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ รวมไปถึงการถ่ายทอดภาพกิจกรรมจากพื้นที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ผ่านช่องทาง www.tkpark.or.th และ www.tkpark.tv เพื่อให้เครือข่ายห้องสมุดมีชีวิตของอุทยานการเรียนรู้ TK park จำนวน 34 แห่ง ใน 24 จังหวัดได้รับชม รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ยังสามารถนำชุดนิทรรศการไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษาและห้องสมุดต่างๆ ในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
"จากสถิติล่าสุด อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ให้บริการยืมชุดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ ไปแล้วจำนวน 61 หัวเรื่อง มีการจัดแสดงทั้งหมด 465 ครั้งจาก 217 หน่วยงาน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ได้รับองค์ความรู้ไปแล้วมากกว่า 500,000 คน รวมทั้งการให้บริการดาวน์โหลดไฟล์ชุดนิทรรศการและคู่มือกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านเว็ปไซต์ www.tkpark.or.th อีกจำนวน 55 หัวเรื่อง จากหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 1,000 หน่วยงาน ทำให้มีผู้ได้รับความรู้จากชุดนิทรรศการผ่านการดาว์นโหลดอีกไม่น้อยกว่า 110,000 คนจากทั่วประเทศ
สำหรับความร่วมมือของอุทยานการเรียนรู้ TK park และ สกว. ผ่านโครงการ "การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเรียนรู้งานวิจัย" ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาในลักษณะของคลิปความรู้ในชื่อ "รายการวิจัยวาไรตี้" โดยได้นำสาระสำคัญของงานวิจัยของ สกว. มานำเสนอในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย ภายในเวลา 10 - 15 นาที โดยกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งนี้เพื่อส่งต่อความรู้ในโลกออนไลน์และสามารถนำไปใช้ได้อย่างไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ รวมถึงสามารถส่งต่อให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์
โดยโครงการ "การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเรียนรู้งานวิจัย" เป็นการทดลองนำสื่อชุดนิทรรศการสร้างสรรค์จาก"โครงการกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ" ตามที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ร่วมมือทางวิชาการกับ สกว. จำนวน 9 หัวเรื่อง โดยนำไปพัฒนาและผลิตเป็นรายการวิจัยวาไรตี้ จำนวน 10 ตอน ได้แก่ ปริศนาแห่งเปลือกหอย, เทคโนโลยีอวกาศ ,นานาเรื่องนม ,กินอย่างไทยให้ไร้โรค ,เรื่องเผ็ดๆ ของพริกตอนที่ 1-2 ,เรื่องกล้วยกล้วย ,มะพร้าว 360 องศา ,ข้าว... สายใยอาเซียน และงานวิจัยไทยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ด้านดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ รองผู้อำนวยการฝ่าย ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และการสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว. เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยหลักแห่งหนึ่งของประเทศ มีภารกิจในการสร้างความรู้และนวัตกรรม สร้างนักวิจัย และนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งภารกิจในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก
"สกว. ได้กำหนดกรอบในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยไว้ 5 ด้าน ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงวิชาการ เชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ เชิงพาณิชย์ ในเชิงชุมชนและพื้นที่ สกว. ตระหนักว่าการจะผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจังนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพราะจะได้มีการเสริมพลังการทำงานร่วมกัน ระหว่างการสร้างองค์ความรู้และการผลักดันองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง"
ความร่วมมือที่ผ่านมา เป็นการส่งเนื้อหาผลงานวิจัยให้กับอุทยานการเรียนรู้ TK Park เพื่อนำไปสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนรู้ ซึ่ง สกว. เล็งเห็นว่าอุทยานการเรียนรู้ TK Park มีระบบที่ดี มีความเชี่ยวชาญ และมีเครือข่ายที่กว้างขวางที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนในวงกว้าง และยังมีแนวทางขยายความร่วมมือให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น ความร่วมมือในการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ ความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ต่างๆ ของ สกว. ฯลฯ
นอกจากนี้อาจารย์รัตนางค์ ตุละวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยวาไรตี้ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำความรู้จากงานวิจัยมาย่อย เพื่อให้น้องๆ ระดับชั้นมัธยมต้นได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ โดยการนำเสนอความรู้ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และสนุก เพื่อให้น้องๆ เกิดแรงบันดาลใจการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จึงได้จัดเป็นรายการกึ่งบันเทิง ชื่อรายการวิจัยวาไรตี้ ความยาว 10-15 นาที จำนวน 10 ตอนดังกล่าว
"หลังจากผลิตรายการเสร็จ โครงการได้มีการจัดกิจกรรมสัญจรขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับชมรวมทั้งจัดทำการประเมิน ซึ่งได้จัดกิจกรรมสัญจรผ่านเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ TK park รวม 5 จังหวัดได้แก่ ยะลา ระยอง พิษณุโลก นครราชสีมา และมาปิดท้ายที่สมุทรสาคร
จากผลประเมินการรับชมกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดี น้องๆ ส่วนใหญ่บอกว่าได้รับความรู้จากคลิปวิดีโอดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวและเรื่องที่แปลกใหม่ นอกจากนี้ยังชื่นชอบพิธีกร รวมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้ในโรงเรียนใช้สื่อการเรียนรู้การสอนแบบนี้อีกด้วย"
สำหรับการจัดกิจกรรมโครงการ "การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเรียนรู้งานวิจัย" สัญจร ณ อุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร (SK park) จังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ มีน้องๆ จากโรงเรียนภายในจังหวัดมารับชมรายการวิจัยวาไรตี้ จำนวน 2 เรื่องได้แก่ นานาเรื่องนม และเรื่องเผ็ดๆ ของพริก ซึ่งน้องๆ ส่วนใหญ่ชื่นชอบ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและยังได้ความรู้ที่แปลกใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดบูธแจกนมควาย และแสดงสินค้าจากพริก เป็นการเพิ่มให้ความรู้กับน้องๆ อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้สำหรับคลิปความรู้ทั้ง 10 ตอนดังกล่าวที่จัดทำขึ้น อุทยานการเรียนรู้ TK park จะดำเนินการส่งมอบให้เป็นสื่อการเรียนรู้กับเครือข่ายห้องสมุดมีชีวิตของอุทยานการเรียนรู้ TK park จำนวน 34 แห่ง ใน 24 จังหวัด และส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงการเปิดให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านทางเว็บไซต์สื่อสร้างสรรค์ ผ่าน www.tv.trf.or.th ต่อไป