กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนมกราคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.44 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยในเดือนมกราคมดัชนีผู้บริโภคมาอยู่ที่ระดับ 67.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนมกราคม 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 3.44 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนมกราคม 2561ได้แก่ รถยนต์ น้ำมันพืช น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัวได้แก่ รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องยนต์ดีเซล และรถบรรทุกปิคอัพเป็นหลัก ทั้งนี้การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า รวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ สหราชอาณาจักร อาเซียน และเอเชียใต้ น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ42.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบและปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มดิบที่มีมากกว่าปีก่อน ทำให้มีการนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ซึ่งบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้และความนิยมมากขึ้น รองลงมาเป็นน้ำมันดีเซล จากการใช้ในภาคการเดินทาง การขนส่งและอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยางแผ่นเป็นหลัก ตามปริมาณน้ำยางดิบที่มีมากกว่าปีก่อน รวมถึงการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจากจีน
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.58 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเดียว จากเครื่องซักผ้าจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดและขยายตลาดไปแถบตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ส่วนพัดลมมีการเร่งผลิตเก็บสต๊อกไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงซีซั่นของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 103.57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 ในขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงทรงตัวและปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.88 โดยมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 และส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
เพิ่มขึ้นร้อยละ อุตสาหกรรมอาหาร มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 โดยเฉพาะปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 โดยส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นรวมร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน