เปิดเวทีสานเสวนา นวัตกรรมเยียวยาด้วยศาสนธรรมบำบัด

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สวรส
สวรส.ภาคใต้ เปิดเวทีสานสายสัมพันธ์สร้างสุข หวังเรียกความสมานฉันต์ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับคืนท่ามกลางวิกฤตความรุนแรง พร้อมเดินหน้าเยียวยาและสร้างความสามัคคี ดันรูปแบบนวัตกรรมเยียวยาสังคมด้วยหลักการศาสนธรรมบำบัดในกระบวนการเสวนา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกสติปัญญาความคิด นำความอยู่เย็นเป็นสุขกลับสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่ละครั้งความแตกแยกของประชาชนในพื้นที่ก็เริ่มทวีความรุนแรงตามไปด้วย ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านกาย ด้านจิต ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณ กายคือการบาดเจ็บ จิตคือสุขภาพจิตแย่ลง และทุกครั้งจะมีทีมจากกรมสุขภาพจิตเข้าไปเยียวยารักษาเสมอ หากเป็นการเยียวยาบุคคล แต่การเยียวยาสังคมหรือการเยียวยาสุขภาพทางสังคมและสุขภาพทางจิตวิญญาณยังไม่ได้รับการเยียวยา นั่นคือสภาพของสังคมที่ทางสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) และหลายหน่วยงานกำลังร่วมมือหาทางแก้ไขร่วมกัน
ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านหลายคนถูกลอบทำร้ายและส่วนมากแล้วเป้าหมายคือผู้นำครอบครัวมกถูกลอบยิง ทำให้เกิดข้อสงสัยของคนในชุมชนด้วยกันและอาจนำมาซึ่งการตั้งข้อสงสัยได้ 2 กรณี คือ1.) ผู้ตายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับทางการจึงถูกกลุ่มแนวร่วมฯลอบยิง ส่งผลถึงคนในชุมชนมองผู้ตายและครอบครัวว่าเป็นฝ่ายรัฐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการตั้งข้อสงสัยและไม่กล้าคบค้าสมาคมกับคนในครอบครัวนั้นทันที หรือในทางกลับกันเช่นในกรณีที่ 2.) คือผู้ตายอาจจะเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ คนในชุมชนก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ผลที่ตามมาคือบรรดาแม่หม้ายและเด็กกำพร้าในหลายครอบครัว กลับเป็นผู้รับเคราะห์กรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ การถูกตั้งแง่ในสังคมและชุมชนกำลังละทิ้งคนกลุ่มนี้กำลังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้การไม่ไว้วางใจกันของคนในชุมชนกำลังขยายตัวมากขึ้น ความสงสัยว่าเป็นคนละพวก คนละฝ่ายทำให้ความเป็นมิตรที่มีต่อกันกำลังร้าวฉานมากขึ้น ฉะนั้นความเป็นสังคมในพื้นที่จึงต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) จึงได้จัดกระบวนการเยียวยาสังคมขึ้น โดยใช้หลักศาสนธรรมบำบัดในกระบวนการสานเสวนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวเชื่อมความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนต่างๆในชุมชน ทั้งผู้สูญเสียที่ต้องการได้รับการเยียวยา ผู้นำชุมชน รวมทั้งองค์กร หน่วยงานในชุมชน การทำงานเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มีการจัดเวทีลักษณะเช่นนี้มาแล้วและถือว่าได้ผล ประชาชนเกิดความสมานฉันท์ เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น แต่เมื่อเกิดวิกฤตความรุนแรงมากขึ้นพบว่ารูปแบบการสานเสวนาอาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับแต่ละบริบทของพื้นที่
ในปี 2550 คณะทำงานเริ่มต้นด้วยการพยายามคิดค้นรูปแบบการเยียวยาสังคมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีการปรึกษาหารือ ศึกษารูปแบบการเยียวยาต่างๆ มีการสังเคราะห์รูปแบบที่เป็นการผสมผสานหลักการศาสนธรรมบำบัดกับกระบวนการเสวนา และเริ่มทดลองทำในชุมชนนำร่อง หลังจากนั้นจะเป็นการอบรมสร้างแกนนำชุมชนเพื่อให้มีทักษะ มีความสามารถที่จะลงไปทำงานเยียวยาสังคมในแต่ละชุมชน แกนนำในชุมชนที่เข้ามาร่วมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) อบต. ผู้นำศาสนา ครู เป็นต้น หัวใจหลักของกระบวนการนี้คือ ต้องการให้คนในชุมชนได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน คืนความรักความเข้าใจกลับคืนมา
ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ กล่าวต่อว่ากระบวนการสานเสวนาถือเป็นการนำกลุ่มคนที่เคยแตกแยกกันในชุมชนหรือสังคมที่เคยแตกแยกกันกลับมาคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนและสังคมของตนเองกลับมาสู่สันติสุขภาวะ ซึ่งแผนชุมชนที่ทุกคนช่วยกันคิดออกมานั้นจะกลายเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ เป็นความภูมิใจร่วมกัน
สิ่งสำคัญในกระบวนการจัดเวทีสานเสวนาประกอบด้วยหลักการศาสนธรรมบำบัด ซึ่งมีดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 คือการใช้วิธีการสร้างภาพที่พึงประสงค์ตามหลักศาสนา ปลูกฝังให้รู้ว่าทุกศาสนามีความเท่าเทียมกันมีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกัน และหลีกเลี่ยงการพูดถึงการต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดน หรือตอกย้ำเรื่องของความรุนแรงทุกประเภท ขั้นตอนที่ 2 คือให้ทุกคนในกลุ่มมาร่วมกันคิดแนวทางที่จะไปสู่จุดหมายของความสงบที่แท้จริง และสอดคล้องกับหลักธรรมของศาสนาอิสลามสอนให้คิดก่อนทำ และทุกคนมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต พร้อมส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือกันในชุมชน ขั้นตอนที่ 3 คือรูปธรรมของการดำเนินงาน เริ่มต้นจากการพัฒนาตนเอง ทุกคนมาร่วมกันคิดเกิดเป็นแบบแผนของชุมชน ท้ายที่สุดแล้วจะพบว่าทุกคนได้พัฒนาตัวเองและช่วยกันคิดว่าทุกคนจะช่วยชุมชนของตนเองได้อย่างไร ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
ผลที่ได้จากการดำเนินการครั้งก่อนทำให้หลายชุมชนมีการปรับตัวในทางที่ดี มีข้อสรุปจากเวทีครั้งที่แล้วพบว่าสิ่งที่ผู้สูญเสียต้องการมากที่สุดคือ ความอยู่เย็นเป็นสุข หมายถึง สันติสุขเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของผู้ที่มีความทุกข์จากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ และพบว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อคนในพื้นที่พยายามเรียกความสามัคคีของคนในพื้นที่จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้สิ่งที่ได้จากกระบวนการเยียวยาสังคม จะทำให้ชุมชนกลับฟื้นขึ้นมาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ รวมถึงแกนนำชุมชน
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้วิธีคิดเรื่องการเยียวยาสังคม ผ่านกระบวนการสานเสวนาจึงเป็นช่องทางหนึ่งในการเยียวยาชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง ซึ่งขณะนี้ สวรส. ภาคใต้ มอ. กำลังดำเนินการจัดการอบรมบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้เข้าใจเรื่องกระบวนการเยียวยาสังคม และเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ไปทำงานต่อไป แม้พื้นที่จะเต็มไปด้วยอันตราย เต็มไปด้วยความกลัวก็ตาม
อย่างไรก็ตามสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้นั้น เริ่มต้นจากการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความเสมอ การแบ่งปันความรักความเอื้ออาทรต่อกัน จะนำไปสู่พลังของชุมชนที่สร้างความเข้มแข็งและความสมานฉันท์กันต่อไป และเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฯลฯ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่องการจัดการความรู้ เพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้ ในวันที่ 7 — 8 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวรส.
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105
วารุณี บุญสงค์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ