กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--โรงพยาบาลมนารมย์
สามีภรรยาหลายคู่อยู่ร่วมชีวิตกันได้ยาวนาน ตามสุภาษิตโบราณที่ว่า ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร...แต่อีกจำนวนมากกลับมิได้เป็นเช่นนั้น นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตคู่และสุขภาพทางเพศ แห่งโรงพยาบาลนมารมย์ เล่าแจ้งในงานบรรยายพิเศษซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ในหัวข้อ “ชีวิตคู่ : เรื่องรักสดใส เรื่องใคร่สุขสม” ถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของคนสองคน ได้แก่ ความรู้สึก การสื่อสารและการปรับตัว ซึ่งความสัมพันธ์ของคู่สมรสจะมั่นคงหรือเปราะบาง ก็ให้พิจารณาที่เหตุปัจจัยสามอย่างนี้ โดยเริ่มที่“ความรู้สึก” ที่มีต่อกันว่าเป็นบวกหรือลบ...เมื่ออยู่ใกล้กันแล้วมีความสุขใจ อบอุ่น มั่นคง ผูกพัน (ความรู้สึกทางบวก) ตรงข้ามกับความหงุดหงิด รำคาญ ขุ่นเคือง จนถึงความเคียดแค้นใจต่อกัน (ความรู้สึกทางลบ)
ความรัก (love) คือความรู้สึกชื่นชมยินดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง มากจนเกิดความปรารถนาขึ้น แล้วจึงแยกความปรารถนาเป็น 2 อย่าง ได้แก่
“ความเมตตา” คือ ความรักที่ปรารถเป็นผู้ให้ (give) เป็นรักแท้ คือ ความผูกพัน ปรองดอง ห่วงใย คิดถึง เห็นใจ เข้าใจ เอื้ออาทร เสียสละ ให้อภัย
“ความเสน่หา” คือ ความรักที่ปรารถนาเป็นผู้รับ (take) มีรากฐานจากราคะที่ปลอมตัวมาในรูปของความรัก ได้แก่ ความต้องตา ติดใจ หลงเสน่ห์ หลงใหล เคลิบเคลิ้ม คลั่งไคล้ โหยหา
ความรักระหว่างหญิงชายที่มีเฉพาะความเมตตาอย่างเดียว โดยปราศจากความเสน่หา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตคู่ เพราะคบกันเป็นเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรก็เพียงพอ ความรักที่สมบูรณ์ในคู่สามีภรรยา คือมีความเสน่หาเป็นพื้นฐาน และต้องความเมตตามาประกอบกัน...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้ชีวิตคู่ผ่านไปนานหลายสิบปี ความเสน่หาลดลง ความเมตตาต้องมากขึ้น
นพ.สุกมล ยกตัวอย่างการแบ่งความรักออกเป็น 4 ระดับ หรือความรัก 4 เกรด ได้แก่
เกรด 1 - รักใคร่ใฝ่กามา (lust) ปรารถนาเพียงสัมผัสสัมพันธ์ทางเพศ แต่ไม่ต้องการความผูกพัน
เกรด 2 - รักหวังวิวาห์มาคู่กัน (eros) ความรักใคร่ระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งอาจมีความหึงหวงตามมา
เกรด 3 - รักปันแบ่งความสุข (well wish) หมั่นทำให้คนรักมีความสุข หลีกเลี่ยงไม่ทำในสิ่งที่ทำให้คนรักเป็นทุกข์ และให้อภัยเมื่ออีกฝ่ายทำให้เสียใจหรือเจ็บใจ
เกรด 4 - รักยอมทุกข์เพื่อสุขเธอ (devoted love) เป็นความรักแบบอุทิศ ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อคนที่เรารัก
เครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาความรักจากเสน่หาไปเป็นความเมตตา หรือบั่นทอนความรักให้จืดจางแล้วกลายเป็นความโกรธเคืองต่อกัน คือ “การสื่อสาร” ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือคำพูด (สื่อสารความคิด) และภาษากาย เช่น น้ำเสียง แววตา สีหน้า ท่าทาง ระยะห่าง การสัมผัส (สื่อสารความรู้สึก) ซึ่งแยกได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่
สื่อสารทางบวก (พูดหรือทำให้อีกฝ่ายมีความสุข) เพิ่มพูนความรัก สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เกิดพัฒนาการ
สื่อสารทางลบ (พูดหรือทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์) บั่นทอนความรัก ผลสุดท้ายต้องอยู่ร่วมกันด้วยพันธนาการ
คู่สมรสที่สื่อสารทางบวกต่อกันอย่างสม่ำเสมอจะสามารถพัฒนาความรักแบบเสน่หาไปเป็นความเมตตา ในทางตรงข้ามหากถนัดในการใช้การสื่อสารทางลบเป็นประจำจะค่อยๆทำลายความรู้สึกปรารถนาดีต่อกัน และเพิ่มพูนความขุ่นเคืองใจให้มากขึ้น จนนำไปสู่การหย่าร้างแยกทางกัน
นพ.สุกมล ตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจในวัฒนธรรมของไทยเราว่า มีความพร่องในการสื่อสาร 3 ประการ ได้แก่
1. ไม่นิยมการสื่อสารทางกาย ไม่สัมผัส ไม่แตะต้องเนื้อตัวแม้แต่คนที่เรารัก
2. เมื่อเกิดความรู้สึกที่ดี ไม่ชื่นชมพฤติกรรมของอีกฝ่าย พูดชมกันไม่เป็น
3. สื่อสารทางลบ แม้มีความปรารถนาที่ดี ทำให้เสียความสัมพันธ์
เมื่อใดก็ตามที่คู่สมรสของเรามีการปฏิบัติบางอย่างที่ทำให้เราเป็นทุกข์ แทนที่จะตำหนิหรือด่าว่า ควรใช้การสื่อสารทางบวกเพื่อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. พูดถึงสิ่งที่เขาทำ
2. พูดถึงความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้น (โดยไม่ต้องมีการตัดสินว่าถูก - ผิด, ดี - เลว)
3. พูดถึงสิ่งที่อยากให้เขาเปลี่ยนแปลง
ทั้งสามขั้นตอนนี้ต้องสื่อด้วยคำพูด หลังจากที่เราจัดการกับอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากพูดตอนที่ยังโกรธอยู่ ก็สร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่ายได้ แต่การที่คนสองคนที่แตกต่างกันต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องอาศัย “การปรับตัว” เข้าหากัน…แทนที่จะเอาแต่ใจตนเอง และคาดหวังให้อีกฝ่ายเป็นหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ
การปรับตัว มี 2 องค์ประกอบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ให้เป็นไปตามความต้องการของอีกฝ่าย และ การปรับตัวให้ยอมรับสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น หรืออยู่กับสิ่งที่เขาเป็นอย่างไม่ต้องเป็นทุกข์
ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในชีวิตคู่ คือ ความคาดหวังสูงในคู่สมรส อยากให้เขาเป็นหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งคนแต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยหลายอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นำไปสู่ความผิดหวัง หากคู่สมรสไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้ การปรับตัวที่สำคัญของอีกฝ่ายคือลดความคาดหวังลง เปรียบเสมือน “การไม่สามารถเพิ่มน้ำให้เต็มแก้วได้ จึงต้องลดขนาดแก้วให้พอดีกับปริมาตรน้ำที่มีอยู่”
ส่วนประเด็นความใคร่ ที่จะให้สุขสมหวังดังใจปรารถนานั้น นพ.สุกมล แนะนำว่า หากคู่สมรสที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สม่ำเสมออย่างมีความสุข จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพทางกายและจิตที่ดี แต่หากมีภาวะบกพร่องในเรื่องทางเพศอาจสะท้อนถึงปัญหาทางจิตใจหรือภาวะโรคทางกายที่ซ่อนเร้น
ในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ได้พัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความบกพร่องที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ (marital life) เพื่อให้สามีภรรยาถนอมรักไว้ให้ยั่งยืน ก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว นำไปสู่ความเข้มแข็งทางสังคมในอนาคตได้ นพ.สุกมล สรุปให้แง่คิดที่น่าจะนำไปปรับปรุงใช้ได้เป็นอย่างดี ให้กับทุกชีวิตคู่ เพื่อความสุขทางกายและใจที่ยืนยาวและมั่นคงจริงๆ
*** หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ อนุศักดิ์ ขันธสิทธิ์ ที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลมนารมย์ โทร. 02-864-3900 หรือ 081-558-8085