กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันนี้ (2 มีนาคม 2560) ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน รมว.แรงงาน เป็นประธาน การจัดงาน "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" ประจำปี 2561 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9
"ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ"
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารี กรุงเทพฯ ใต้ ณ ลุมพินีสถาน วันจันทร์ ที่ 2 มีนาคม 2513
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธาน การจัดงาน "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" ประจำปี 2561 ว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ รวมทั้งเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" และให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมถึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ กพร. และมาตรฐานฝีมือแรงงานสู่สาธารณชน โดยกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" ด้วย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านการช่าง รวมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน
รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561ประกอบด้วยพิธีถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย โดยเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 148 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธี จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" และการจัดงานในครั้งนี้ จัดพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าในการพัฒนาทักษะนั้น ได้มุ่งเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยทุกกลุ่ม เพื่อสนองต่อความต้องการแรงงานไทยในทุกอุตสาหกรรม ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ .2560 – 2579) ซึ่งกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพแรงงาน รองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในส่วนแรงงานในกลุ่ม First S – curve และ New S – Curve ใน 10 อุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2560 – 2564 พบว่ามีความต้องการแรงงานในภาพรวมเฉลี่ยเกือบ 70,000 คนต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการเตรียมแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกัน ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้มีการสำรวจความต้องการอย่างจริงจัง และสามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต EEC รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รมว.กล่าวทิ้งท้าย