กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ ระดมสมอง 20 กระทรวง เดินหน้าสร้างศูนย์ข้อมูล Big Data บูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐข้ามกระทรวง นำร่องตอบโจทย์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว และด้านอุตุนิยมวิทยา มั่นใจ 2 เดือนนับจากนี้ เปิดตัวสู่สาธารณะได้ พร้อมนโยบายเปิดข้อมูลภาครัฐ เพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจและสังคม ตอบโจทย์ความต้องการข้อมูลของกลุ่มสตาร์ทอัพ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในการประชุม เชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)" ว่า จากข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ทุกกระทรวงร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)" ขึ้น โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ปลัดกระทรวง 19 กระทรวง และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ กำหนดโจทย์ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ติดตามการดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูล แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในครั้งนี้ จะเริ่มที่การขับเคลื่อนข้อมูลใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว และด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐข้ามหน่วยงานอย่างบูรณาการ เพื่อให้เห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ เพื่อประโยชน์ทั้งในการอธิบายปัญหา หรือ ปรากฏการณ์ (Descriptive Analytics) ไปจนถึงการใช้ข้อมูลเพื่อการ "พยากรณ์" หรือ "ทำนาย" สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น (Predictive Analytics) หรือใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงผลลัพธ์เรื่องต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Prescriptive Analytics) เพื่อปรับตัวสร้างวิธีการรับมือได้อย่างทันท่วงที
"สำหรับหลักการสำคัญในนโยบายและการขับเคลื่อน Big Data โดยทุกกระทรวง ทบวง กรม สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลการวิเคราะห์ สร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ผลการดำเนินการของ Big Data เป็นลักษณะ Working Group จัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน โดยต้องจัดทำกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Analytics) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 มีเป้าหมายที่จะสร้างความชัดเจนให้ทุกกระทรวงและระบุเจาะจง Big Data ของหน่วยงานนั้นๆ โดยเริ่มจากหน่วยงานที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งจะต้องจัดระบบ Data Center และระบบ Cloud Service ภาครัฐ ที่จะสามารถบูรณาการข้อมูลข้ามกระทรวงกันได้ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในกระทรวงเองด้วย เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพจากการใช้ข้อมูลพร้อมข้อเท็จจริงในการลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการในลักษณะต่างๆ พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้ เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม" ดร.พิเชฐฯ กล่าว
นอกจากนั้น ยังนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆของภาครัฐมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ไม่ใช่ความลับและข้อมูลส่วนบุคคล มีลักษณะการอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time) มีการอัพเดตข้อมูลนาทีต่อนาที โดยหน่วยงาน องค์กร บริษัท กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการจัดทำศูนย์ข้อมูลการบริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหวผ่าน API (http://data.tmd.go.th/api/index1.php) (Thailand Meteorological Department API : TMDAPI) แล้ว ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมอุตุฯ ด้านการติดตาม รายงานสภาวะอากาศ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ พยากรณ์อากาศ เตือนภัย และรายงานการเกิดแผ่นดินไหว ด้วยความรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศและของกระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ตามมาตรฐาน Open Data เพื่อยกระดับการให้บริการภาครัฐตามนโยบาย e-Government
ด้าน นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในหลักการ กระบวนการ และความเชื่อมโยงของ Big Data, Data Center และ Cloud Computing ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ 3) เพื่อให้สามารถวางแผนสำหรับบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เพิ่มขึ้นมาในภายหน้า 4) เพื่อจัดอบรมควบคู่กับการให้ความรู้ แนะนำวิธีการคิดวิเคราะห์การจัดการกับข้อมูลและสร้างโมเดลสำหรับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytic) และ 5) เพื่อแสดงให้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลที่ได้จากการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และประโยชน์หรือบริการที่ประชาชนจะได้รับจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่
โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลของแต่ละกระทรวงมาบูรณาการให้เกิดมิติข้อมูลใหม่ สามารถวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ สร้างเป็นโมเดลวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์สร้างเป็น บริการภาครัฐที่มีความเหมาะสมตรงตามความต้องการของประชาชน ซึ่งการประชุมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญและโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ให้แก่หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาระดับการบริหารข้อมูลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะจะเป็นการบูรณาการข้อมูลที่เอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันสมัย และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริการของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 20 กระทรวง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้มีความสมบูรณ์ สำเร็จตามเจตนารมณ์ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป