กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ทีเอ็มบี
ประเทศไทยใช้อัตราเงินเฟ้อในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีกรอบเป้าหมายอยู่ในช่วง 1-4% แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยกลับเฉลี่ยไม่เกิน 1% ต่อปี ทำให้ ธปท. ยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% เป็นระดับที่เกือบต่ำสุดที่เคยมีมาและสูงกว่าในช่วงที่วิกฤต Subprime เพียง 0.25% อีกทั้งการสำรวจภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาปรับแย่ลงกว่าในเดือนก่อนหน้าและประชาชนยังรู้สึกว่าภาวะค่าครองชีพยังสูงกว่าระดับปกติ จึงเกิดคำถามว่าราคาสินค้าของไทยต่ำจริงหรือไม่
หากลองพิจารณาองค์ประกอบที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในตะกร้าเงินเฟ้อ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง และการสื่อสาร นั้น ราคาแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยที่เป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อ ในช่วงสามปีที่ผ่านมาทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และค่าน้ำค่าไฟแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย อีกทั้ง ค่าครองชีพในด้านการเดินทางทั้งการซื้อยานพาหนะและค่าอะไหล่รถยนต์ที่มีสัดส่วนถึง 16% ก็แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากสามปีที่แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการติดต่อสื่อสารไม่ขยายตัวเลยมาร่วม 10 ปีแล้ว ทั้งในแง่อุปกรณ์สื่อสารและค่าบริการ เป็นต้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนภาระค่าใช้จ่ายในความรู้สึกของบุคคลทั่วไปได้ดีเท่าใดนัก
นอกจากนี้ ในยุคที่โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขนส่งสินค้าสะดวกสบายขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงมิได้แข่งขันเฉพาะกับผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศที่อาจมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง ดังนั้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าและคงยอดขายในระดับเดิมไว้ แม้ต้นทุนหลายรายการจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้าง พลังงาน แต่ธุรกิจก็อาจไม่สามารถคงหรือเพิ่มสัดส่วนกำไรได้ จึงอาจเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อไทยให้อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็มีส่วนทำให้การนำเข้าสินค้าต่างๆ มีราคาถูกลงเมื่อแปลงเป็นเงินไทย อีกทั้ง ยังมีปัจจัยทางด้านอุปทานอื่นๆ ทั้งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาอาหารสดที่ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของนโยบายการเงินของไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
จะเห็นว่าหลายปัจจัยข้างต้นซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีน้ำหนักกดดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ในปีนี้อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะแตะขอบล่างของเป้าหมายแม้ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมก็ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงอาจถึงเวลาที่ ธปท. จะสามารถเริ่มขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยงจากพฤติกรรม Search for yield และเพื่อเก็บกระสุนไว้รับมือวิกฤตต่างๆที่อาจมากระทบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่?