กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
วันนี้ (2 มีนาคม 2561) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในนามรัฐบาลไทย จัดประชุมหารือความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการมาตรการควบคุมการส่งออก ครั้งที่ 5 ในเดือนแรก (มกราคม) พร้อมหาแนวทางอื่นร่วม หวังสร้างเสถียรภาพด้านราคา ตลอดจนดึงเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) อย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับตลาดต่างประเทศยิ่งขึ้น
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้แก่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ร่วมประชุมหารือความร่วมมือด้านยางพารา เพื่อจะสร้างเสถียรภาพด้านราคา และพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนอุตสาหกรรมยางให้มีความมั่นคงและยั่งยืน และยังเป็นการส่งเสริมด้านความร่วมมือและความความสัมพันธ์อันดีในฐานะประเทศผู้ผลิตยางด้วย โดยครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา (Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) ครั้งที่ 5 ภายใต้ข้อตกลงสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยกำหนดการลดโควตาการส่งออกยางพาราร่วมกันของ 3 ประเทศสมาชิก ITRC จำนวน 350,000 ตัน
มาตรการ AETS เป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาราคายางในระยะสั้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งนับจากนี้ยังเหลือเวลาในการดำเนินมาตรการนี้อีกประมาณ 1 เดือน ในการควบคุมปริมาณยางในตลาดให้ลดลง ทั้งสามประเทศยืนยันที่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดและจริงจังมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยของแต่ละประเทศซึ่งจะมีรายได้ที่สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการมาตรการนี้ ประเทศเวียดนาม ในฐานะประเทศผู้ผลิตยาง ยังช่วยสนับสนุนมาตรการครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลควบคู่ด้วยดังกล่าวร่วมด้วย
นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ในวงการยางพารา ที่ทั้ง 4 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้ร่วมประชุมหารือและกำหนดแนวทาง เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางผันผวน โดยมุ่งให้เกิดการยกระดับราคายางในตลาด เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งจะมีรายได้ที่สูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศเวียดนาม ให้มีความเข้มแข็งและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่มีมากยิ่งขึ้น จะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรม การตลาด และเกษตรกรได้ เพิ่มอำนาจการต่อรองกับตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้นต่อไป