กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยมีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้
1. จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย
1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 713 ราย
1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี มี SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำนวน 148 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้วจำนวน 91 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้วจำนวน 71 ราย
1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติ การร่วมลงทุนใน Startup แล้ว 35 ราย วงเงินรวม 768 ล้านบาท โดยมี Startup 9 ราย ที่ได้มีการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 196 ล้านบาท
2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย
2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 69 ราย
2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย
ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ผลการศึกษาสถานภาพการพัฒนาผู้ประกอบการและระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Survey 2017) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 2) ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thai Tech Startup Association: TTSA) ดำเนินการศึกษาสถานภาพการพัฒนาผู้ประกอบการและระบบนิเวศของ Startup ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2560 ซึ่งมีกิจการ Startup เข้าร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด 205 ราย
จากผลการศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของ Startup ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ในช่วงปี 2551 - 2560 การก่อตั้งธุรกิจ Startup ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีจำนวน Startup ที่ก่อตั้งใหม่สูงถึง 72 ราย สำหรับการจัดกลุ่ม Startup ในช่วงต่าง ๆ พบว่า Startup ที่อยู่ในช่วงหลังระดับแนวคิดเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังไม่ได้ลงมือดำเนินธุรกิจ (Idea Stage) ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการระดมทุนมีอัตราสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 61 รองลงมาเป็น Startup ที่ได้รับการระดมทุนแล้วคิดเป็นร้อยละ 25 (โดยแบ่งเป็น Startup ระดับ Seed Round (มีมูลค่าการระดมทุน 600,000 บาท - 100 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 69 ระดับ Series A (มีมูลค่าการระดมทุน 33 – 495 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 25 และระดับ Series B - C (มีมูลค่าการระดมทุน 66 ล้านบาทขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 6)) สำหรับ Startup ที่อยู่ในช่วง Idea Stage/Pre-Seed มีอัตราน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 14 โดยในการจัด 5 อันดับอุตสาหกรรมที่กิจการ Startup ในประเทศไทยดำเนินการ ได้แก่ อันดับที่ 1 กลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ อันดับที่ 2 การขนส่งและลอจิสติกส์/เทคโนโลยีทางการเงิน อันดับที่ 3 เทคโนโลยีทางการตลาด อันดับที่ 4 เทคโนโลยีการท่องเที่ยว และอันดับที่ 5 เทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ ยังพบว่าในประเด็นความเห็นของ Startup ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากของ Startup คือ การขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เช่น โปรแกรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักพัฒนาหรือวิเคราะห์ธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการ Startup ของไทยมีความคาดหวังต่ออนาคตของประเทศไทย คือ (1) อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม (2) อยากสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และ (3) ตั้งใจที่จะเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ให้แก่ผู้ประกอบการน้องใหม่
จากผลการศึกษาดังกล่าว สรุปได้ว่าการพัฒนา Startup ยังมีความจำเป็นต้องสร้างบุคลากรเพื่อรองรับต่อความต้องการของ Startup และการกระจายอุตสาหกรรมที่ Startup ดำเนินการควรมีการสร้างความหลากหลายไม่ให้กระจุกตัวที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง สำหรับรายงานการศึกษาฉบับเต็ม ปัจจุบัน สวทน. ได้จัดทำรายงานการศึกษาดังกล่าวในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก (Infographic) ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปและผู้ที่สนใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว