กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลราชวิถี จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันการได้ยินโลก ปี 2561 โดยวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคการสูญเสียการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี กว่า 3,000 คนต่อปี และได้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย
ณ โรงพยาบาลราชวิถี กทม. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และ ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดกิจกรรมรณรงค์ "โรงพยาบาลราชวิถี
ลดเสียง ลดหูหนวก" เนื่องในวันการได้ยินโลก (World Hearing Day)ประจำปี 2561
นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยิน และการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน หรือหูเสื่อม ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาการได้ยิน 360 ล้านคน ในประเทศไทยพบผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินกว่า 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น ซึ่งปัญหาการสูญเสียการได้ยิน มีหลายสาเหตุ เช่น จากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจากการทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่เสียงดัง รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใส่หูฟังเป็นเวลานาน การคุยโทรศัพท์เสียงดังเกินไป โดยกลุ่มเสี่ยงสูงคือกลุ่มคนที่ทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง
อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยมีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน คือการได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆเหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งหากมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน หรือแก้วหูทะลุหรือไม่ การตรวจการได้ยิน หากพบว่าประสาทหูเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้คือการป้องกันไม่ให้เสื่อมมากขึ้น หรือชะลอการเสื่อม ทั้งนี้ หากพบว่าประสาทหูเสื่อมมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนหรือการทำงาน การแก้ไขมี 2 วิธีคือการใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล
สำหรับการป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่เสียงดังเป็นเวลานาน หรือหากต้องอยู่ในที่เสียงดัง หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง การพักผ่อนให้เพียงพอทำร่างกายให้แข็งแรงป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคการสูญเสียการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี กว่า 3,000 คนต่อปี ได้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย
ด้านนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ "โรงพยาบาลราชวิถี ลดเสียง ลดหูหนวก" เนื่องในวันการได้ยินโลกขึ้น ณ บริเวณลานหน้าห้องประชุมพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี ภายในงานมีนิทรรศการพร้อมการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ"ลดเสียง ลดหูหนวก" บริการตรวจหูฟรีโดยโสต ศอ นาสิกแพทย์ บริการตรวจเช็คเครื่องช่วยฟังฟรี และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง