มาตรการลดผลกระทบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกรณีเสนอลดเงินสมทบประกันสังคม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 5, 2018 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นด้วยกับบอร์ดประกันสังคมไม่ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมเพราะจะกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม มีผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ขัดต่อกฎหมายประกันสังคม และการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยการเสนอปรับลดเงินสมทบนั้นจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายการลดอัตราเงินสมทบแบบเหมารวมมีต้นทุนสูงเกินความจำเป็นและเป็นการช่วยเหลือที่อาจไม่เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้เต็มที่อย่างแท้จริง ควรหามาตรการอื่นในการช่วยเหลือจะดีกว่า ส่วนการลดภาษีให้ผู้ประกอบการก็อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพราะกิจการที่มีปัญหามักประสบภาวะการขาดทุนหรือกำไรน้อย ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษี ส่วนกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงจะได้ประโยชน์จากการลดภาษี ซึ่งอาจเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงจุด ไม่ตรงประเด็นและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 16.00 น. 4 มี.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากมีข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างและคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างลงร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 12 เดือนเพื่อลดกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และ เห็นด้วยกับมติของบอร์ดประกันสังคมที่ไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมดังกล่าว เพราะการปรับลดเงินสมทบจะส่งผลต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม และการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยการเสนอปรับลดเงินสมทบนั้นจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายการลดอัตราเงินสมทบแบบเหมารวมมีต้นทุนสูงเกินความจำเป็นทำให้นายจ้างที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้รับสิทธิในการลดจ่ายเงินสมทบไปด้วย สภาพดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือที่อาจไม่เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้เต็มที่อย่างแท้จริง จากการศึกษาพบว่า อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้วโดยรัฐบาลจ่าย 2.75% นายจ้างและผู้ประกันตนจ่าย 5% โดยนายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเท่ากันแยกออกเป็นจ่ายกรณีเจ็บป่วย 1.5% กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 3% กรณีว่างงาน 0.5% ประเมินสถานะกองทุนประกันสังคมเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทน 7 กรณีรายรับยังคงเพียงพอรายจ่าย แต่หากมีการลดเงินจ่ายสมทบจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพกองทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 จากเดิม300-310 เป็น 308-330 ต่อวัน หรือเฉลี่ยวันละ 316 บาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 เพียง 2.6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นค่าจ้างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.8% และส่วนใหญ่ของผู้ประกับตนประมาณ 55% มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ การลดอัตราเงินสมทบจะทำให้สิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ ป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตรและตาย มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องในการจ่ายประโยชน์ทดแทน สำหรับสถานะกองทุนประกันสังคมสำหรับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี มีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้านบาท สัดส่วนเงินสำรองเพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ 4 กรณี (Reserve Ratio) อยู่ที่ประมาณ 1 ปีพอดี เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม หากมีการลดการจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 1% เป็นเวลา 1 ปี จะทำให้เงินสำรองลดลงเหลือเพียง 6 เดือนอาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง มาตรการชะลอการจ่ายสมทบอีกว่าก็ไม่ใช่มาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างในการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และทำให้นายจ้างมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากการชะลอการนำส่งเงินสมทบในภายหลังอีกด้วย ระบบประกันสังคมนั้นถือเป็นการออมรูปแบบหนึ่งหรือเป็นการออมแบบบังคับเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคตของผู้ประกันตน การดำเนินการใดๆที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของกองทุนต้องหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ สังคมไทยยังต้องเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เป็นภาระในเรื่องการดูแลสวัสดิการชราภาพมากอยู่แล้ว เรายิ่งต้องทำให้สถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมให้เข้มแข็งเพื่อแบ่งเบาภาระดังกล่าว ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึง ข้อเสนอของรัฐบาลเรื่องมาตรการการลดภาษีเพื่อลดผลกระทบขึ้นค่าแรงให้ผู้ประกอบการก็อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพราะกิจการที่มีปัญหามักประสบภาวะการขาดทุนหรือกำไรน้อย ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษี ส่วนกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงจะได้ประโยชน์จากการลดภาษี ซึ่งอาจเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงจุด ไม่จำเป็น ไม่ตรงประเด็นและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งรัฐสูญเสียรายได้ในการนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆควรหามาตรการอื่นๆในการช่วยเหลือเพื่อให้ตรงจุดตรงกลุ่มเป้าหมายจะดีกว่า รวมทั้ง ควรเน้นไปที่การลดต้นทุนในการประกอบการของภาคธุรกิจ และ การเพิ่มผลิตภาพของการประกอบการและผลิตภาพของแรงงานจะเหมาะสมกว่า รัฐบาลควรแสวงหามาตรการช่วยเหลือโดยพุ่งเป้าหมายไปที่สถานประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแท้จริง รัฐอาจหาทางจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับสาขาธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดเสรี เป็นต้น และ นำรายได้ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยให้กับกิจการที่ได้รับผลกระทบทางลบจากมาตรการหรือนโยบายของรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ