กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรงและฟ้าผ่า อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ในช่วงวันที่ 7 – 9 มีนาคม 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับถัดไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น อาสาสมัคร เครือข่ายภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน อยู่ห่างวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมเครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาค และทองแดง และงดเว้นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรงและฟ้าผ่า อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป