กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการตาม พระราชประสงค์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้เข้าอยู่อาศัยและประกอบอาชีพการเกษตรตั้งแต่ปี 2507 เนื้อที่ประมาณ 12,079 ไร่ในบริเวณหุบกะพง ได้รับการพัฒนาจากที่เคยเป็นดินเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์ได้เข้ามาพัฒนาและพระราชทานคำแนะนำให้ชาวบ้านได้ช่วยกันดูแลสภาพพื้นที่จนอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และมีการนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านหุบกะพง จนกลายเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างแห่งแรกของประเทศไทย และเมื่อชาวบ้าน มีความเข้าใจในการทำงานและอยู่ร่วมกันตามหลักวิธีการสหกรณ์แล้ว ต่อมาได้มีการจัดเป็นสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ในพื้นที่หุบกะพง เพื่อดูแลส่งเสริมอาชีพและเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและติดตามการดำเนินงานภายในศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งพบปะชาวบ้านที่เป็นสมาชิก ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านหุบกะพงมีชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ 3,800 คน และเป็นสมาชิกของสหกรณ์ประมาณ 574 ครอบครัว ซึ่งศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพงนอกจากจะมีภารกิจในการจัดที่ดินและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่หมู่บ้านหุบกะพงแล้ว ยังทำหน้าที่ในการดูแลส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เพื่อให้สหกรณ์แห่งนี้มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการให้กับสมาชิก ซึ่งธุรกิจหลักของสหกรณ์ ได้แก่ การรับฝากเงิน การให้กู้ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การรวบรวมสินค้าและแปรรูป และการบริการสมาชิก รวมมูลค่าปริมาณธุรกิจ 20.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ ชาวบ้านหุบกะพงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกพืชผักผลไม้ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ผักสวนครัว พริก มะนาว แตงกวา ผักบุ้งผักกวางตุ้ง ผักคะน้า มะม่วง ฝรั่ง มะละกอ ชมพู่ ฯลฯ เลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนมและแพะ และรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเสริม เช่น การทำสินค้าหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์ เป็นของใช้ เช่น รองเท้า กระเป๋า หมวก เข็มขัด และการทำสินค้าใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ฯลฯ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านของหุบกะพงสามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้ที่มั่นคงในการเลี้ยงครอบครัว ซึ่งกลุ่มอาชีพเหล่านี้ได้เปิดให้บุคคลภายนอกที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้และดูงาน เพื่อนำความรู้กลับไปประกอบอาชีพได้ส่งผลทำให้ในปัจจุบันมีคณะบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ หลายจังหวัดได้แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและดูงานที่หมู่บ้านสหกรณ์โครงการ หุบกะพงอย่างต่อเนื่องทุกวัน
นอกจากนี้ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ยังได้มีโครงการสำคัญ 2 โครงการที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานให้กับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่งปลอดสาร มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 12 ราย ซึ่งสมาชิกจะต้องผลิตหน่อไม้ฝรั่งให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดและให้สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะเข้าไปปลูกในพื้นที่แปลงของตนเองและจะมีการต่อยอดให้กับผู้ที่มีความสนใจในพื้นที่โครงการฯ และยังมีโครงการส่งเสริม
และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่หมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพงด้วย โดยสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด จะเปิดพื้นที่บริเวณด้านหน้าของสหกรณ์เป็นตลาดสินค้าเกษตร เพื่อให้สมาชิกนำผลผลิตของตนเองที่ปลูกในครัวเรือนมาจำหน่ายในตลาดทุกเย็นวันจันทร์และวันศุกร์ ซึ่งตลาดสินค้าเกษตรในขณะนี้ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชน ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงและนักท่องเที่ยวและคณะที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงได้มาเลือกซื้ออุดหนุนสินค้าและผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ วันละ 500 คน ซึ่งส่งผลในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรและช่วยกระจายสินค้าการเกษตรที่สด สะอาดปลอดภัยจากพื้นที่หมู่บ้านหุบกะพงออกสู่ผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
การพัฒนาพื้นที่ภายในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาด้านทิศตะวันตก ทำให้อยู่ในเขตพื้นที่เงาฝน ปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีมีน้อยมาก ชาวบ้าน หุบกะพงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก แต่ยังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ส่งผลทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนและได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ทางศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จึงได้ประสานงานกับโครงการชลประทานเพชรบุรี ในการจัดหาและสร้างระบบน้ำจากชลประทานขึ้นภายในพื้นที่โครงการ รวมถึงประสานกับกรทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรและสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งหากระบบน้ำในพื้นที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร จะส่งผลทำให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตที่ดีเพื่อจำหน่าย โดยมีสหกรณ์ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกส่งจำหน่ายสู่ตลาดภายนอก ซึ่งทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอนและมีรายได้ที่มั่นคง ขณะเดียวกันสหกรณ์ก็จะมีปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นการนำระบบสหกรณ์มาบริหารจัดการความเป็นอยู่และอาชีพของชาวบ้านในพื้นโครงการตาม พระราชประสงค์หุบกะพงอย่างครบวงจรด้วย
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับสมาชิกสหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัดว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหุบกะพงมีจำนวนกว่า 3,800 คน ในพื้นที่ 10,000 กว่าไร่ ควรต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหาความแห้งแล้ง และแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย ทุกคนต้องมองไปข้างหน้า 10 - 20 ปี และวางแผนในอนาคตร่วมกัน เพราะที่แห่งนี้เป็นโครงการตามพระราชประสงค์แห่งแรกที่รัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ที่จะทำเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน จึงต้องร่วมกันสานต่อแนวพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ หุบกะพง ต้องอยู่กันด้วยความสามัคคี ร่วมมือกันและรวมกันเป็นกลุ่ม จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในสังคมยุคปัจจุบัน
" ทำอย่างไรถึงจะรวมกันและบริหารกันภายใต้ระบบสหกรณ์ให้ได้ ตอนนี้เกษตรกรไปสู้นักธุรกิจไม่ได้หรอกถ้าไปค้าขายแข่ง แต่ถ้ารวมตัวกันแล้วผลิตแล้วดูแลกัน ค่อย ๆ เป็นค่อยไป ทำตามฐานะของตัวเราเอง อย่าไปเลียนแบบคนอื่น ค่อย ๆ พัฒนาไปให้ก้าวหน้าสำคัญสุดคือต้องสามัคคีกันให้ได้ แล้วเราก็จะดูแลอาชีพให้กับคนในหมู่บ้านนี้ 3,800 กว่าชีวิต พื้นที่ 10,000 กว่าไร่ ระบบชลประทานก็มีการจัดได้ดีโดยกรมชลประทานเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งคนในหมู่บ้านก็ต้องร่วมกันรักษาอุปกรณ์เครื่องมือส่งน้ำของชลประทานให้ดี เราจะช่วยสืบสานพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใยชาวหุบกะพงมาโดยตลอด และเรื่องสหกรณ์ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ภายใต้ระบบที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ถ้าสามัคคีกันและช่วยกันปกป้องดูแลและสร้างชีวิตที่ดีร่วมกันในสังคมชุมชนตนเอง เป็นความพอเพียงอย่างมั่งคั่ง มีผลผลิตอาหารสมบูรณ์ในหมู่บ้านแบ่งปันกันแจกจ่ายกันได้ทำให้ ทุกคนอยู่รอดได้" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว