กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ไอเวิร์คพีอาร์
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดกิจกรรมวันไตโลก ภายใต้คำขวัญ "สตรีไทย ไตStrong"ยกระดับปัญหาโรคไตเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งสิ้น จำนวน 39,411 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จำนวน 20,993 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 13,503 ราย และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO จำนวน 4,951 ราย ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้สิทธิบัตรทอง เป็นผู้หญิงจำนวน 20,125 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งกว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดนี้ เป็นหญิงวัยเจริญพันธ์อายุ 15-49 ปี และทั้งพบประวัติโรคร่วม ได้แก่ โรคเบาหวานร้อยละ 49 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 81 และโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร้อยละ 4.2 แต่อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณี เช่น ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับตั้งครรภ์ อาทิ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นต้น รวมถึงโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง จะเห็นได้ว่าโรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่คุกคามสุขภาพประชากรขณะนี้ และจากประมาณการณ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564) จะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบเพิ่มเป็นจำนวน 59,209 ราย
ด้าน ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้เนื่องจากวันไตโลก ตรงกับวันสตรีสากล นานาชาติ จึงเห็นควรให้เน้นในเรื่องของโรคไตกับสตรีเป็นสำคัญ เราจึงจัดงานภายใต้คำขวัญ "สตรีไทย ไตStrong" ขึ้น โดยในปัจจุบันจำนวนประชากรที่เป็นเพศหญิงของประเทศไทยมีจำนวนรวมกันมากกว่าประชากรชาย ดังนั้นเรื่องของ สตรีกับโรคไต จึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย พบว่าสาเหตุหลักของไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรวมกันมากกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการรับประทานอาหารรสหวาน หรือเค็มจัดและไม่ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งยังคงไม่สามารถสรุปได้ว่าเพศใดเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณี เช่น ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ สำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคไตเรื้อรังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง โดยเฉพาะในรายที่การทำงานของไตลดลงอย่างมาก เมื่อผู้ป่วยมีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและได้รับการบำบัดทดแทนไตจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก แต่อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่การทำงานของไตยังดีก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ ผลของการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนอาจทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ส่วนยาลดความดันโลหิตบางชนิดยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ จึงต้องเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษและอาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์ จึงควรปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันการตั้งครรภ์เองก็ส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้ง การตกเลือดหลังคลอด ทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การเกิดโรคไตวายเรื้อรังในกลุ่มผู้หญิงมีความเสี่ยงไม่น้อยกว่าผู้ชาย จากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ปัญหาทางเดินระบบปัสสาวะและผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับภาวะการตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ไม่เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ยังต้องรับการบำบัดไปตลอดชีวิต จนทำให้เกิดภาวะล้มละลาย ส่งผลให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษาและต้องเสียชีวิตลง
"โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก ไม่เพียงแต่กระทบต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัว สปสช.จึงได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่แต่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ยังช่วยรับภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ให้ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยในปี 2561 นี้ บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณ 8,165.60 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง"
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า สำหรับการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. เพื่อทำการรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดเค็มของประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยในของการรับประทานเค็ม จนทำให้เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ มากมาย โดยในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเองได้มีนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือโซเดียมแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 2 ด้าน คือ การบริโภคที่เหมาะสมและการออกกำลังกายที่เพียงพอ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ของการพัฒนาว่าจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืนและเป็นสุข