กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--IR network
UPA พูดจริงทำจริง! เซ็นรับ PPA เข้าลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มของสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์กระแสสินธิ์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 5 MW พร้อมทั้งส่งบริษัทลูก "อันดามันเพาเวอร์ฯ" เข้าลงทุน 100% ในบริษัท บริษัท พาราโบลิก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของ โครงการสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรี จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 1.75 M และโครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 1.20 MW รวมขนาดกำลังการผลิตรวม 3 โครงการ ที่ 7.95 MW อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี และได้รับ PPA จาก กกพ.ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา "อุปกิต ปาจรียางกูร" เผยจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ เดือน กันยายน 61 เก็บเงินเข้ากระเป๋าได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป กดปุ่มสตาร์ทสู่การเทิร์นอะราวด์ของ UPA มั่นใจเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจพลังงานให้กับบริษัท สร้างรายได้ให้เติบโตอย่างมั่นคงและให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น
นายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด พาวเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการมีมติรับทราบการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในฐานะ "ผู้สนับสนุนโครงการ" ซึ่งจะดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ของสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อำเภอกระแสสินธิ์ จำกัด กำลังการผลิตติดตั้ง 5.0 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี และให้บริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน เข้าลงทุนในบริษัทที่เป็น "ผู้สนับสนุนโครงการ"ของ โครงการสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรี จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 1.75 เมกะวัตต์ และ โครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 1.20 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 กำลังการผลิตติดตั้ง รวม 2.95 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้อนุมัติคำร้องและข้อเสนอขายไฟแล้ว พร้อมกันนี้มีการเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เรียบร้อยแล้ว การเข้าลงทุนดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถเพิ่มขอบข่ายการดำเนินธุรกิจทางด้านธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มเติมตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ โดยหากในอนาคต บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจนี้ได้มากขึ้นและสามารถใช้ทรัพยากรส่วนกลางร่วมกันได้ จะทำให้เกิดการประหยัด เนื่องจากขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวมของบริษัทฯ อีกทั้ง การเข้าทำรายการเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบริษัทฯ โดยช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขันการดำเนินธุรกิจ และสร้างรายได้ในอนาคตให้แก่บริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง
" นับเป็นจุดสตาร์ทสู่การเทิร์นอะราวด์อย่างโดดเด่นสำหรับ UPA เพราะทีมบริหารลงมือทำงานอย่างจริงจัง จนกระทั่งนำมาสู่การได้รับ PPA จาก กกพ.สามารถที่จะจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์ม ทั้ง 3 โครงการรวม 7.95 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกันยายน 61 และจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป ดังนั้นจะทำให้บริษัทฯ มีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว มีพื้นฐานที่แข็งให้แข็งแกร่งขึ้น ในอนาคตจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย" นายอุปกิต กล่าวในที่สุด