กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยกำหนด 4 กลยุทธ์ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ซึ่งมีทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ การสร้างมูลค่าสินค้า และสนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประสานการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์มากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้กำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก
“กลยุทธ์แรก คือ การพัฒนาผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์นี้ จะมีทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ ฝึกอบรม ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แก่ผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก มีการส่งเสริมการประกอบธุรกิจในสาขาเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะในช่วงของ การปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่ระบบเกษตรอินทรีย์” นางพิมพาพรรณ กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ที่สอง จะมุ่งขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก รวมถึงกฎระเบียบด้านมาตรฐานสุขอนามัยและการนำเข้าส่งออกของประเทศคู้ค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น งานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ จับคู่ธุรกิจ โดยให้มีการขยายตลาดในประเทศควบคู่ไปกับตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้จะส่งเสริมการผลิตให้หลากหลายขึ้น และพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การค้าอิเล็กทรอนิคส์ การค้าระบบสมาชิก จัดตลาดนัด รวมทั้งส่งเสริมการจัดซื้อโดยองค์กรของรัฐ ส่งเสริมความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ และผลักดันให้มีการยอมรับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยตรวจรับรองที่รัฐบาลไทยให้การรับรองกระบวนงาน
นางพิมพาพรรณ กล่าวถึงการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์กลยุทธ์ที่สามว่า จะเน้นการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาตลาด ส่งเสริมการสร้างตราสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ระดับสากล ผลักดันให้มีการปิดฉลากรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และให้มีการใช้สัญลักษณ์รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นเอกภาพ ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสน
กลยุทธ์สุดท้าย คือ สนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลตลาดเกษตรอินทรีย์ ร้านค้าชุมชนเกษตรอินทรีย์ ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามหน่วยงานขนาดใหญ่ รวมถึงการฝึกอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อลดต้นทุนและรักษาคุณภาพสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0 2 354 3588 Email : usanee@incom.co.th