กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมจัดการประชุมระดับสูง หัวข้อ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน การป้องกันอาชญากรรม และสังคมที่สงบสุข" ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
นายยูรี่ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม จากนั้นได้กราบทูลเชิญ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรี ด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประทานพระดำรัสเปิดการประชุมดังกล่าว
ในถ้อยแถลงของ นายเฟโดทอฟ ได้กล่าวชื่นชมพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ว่านอกจากจะทรงเป็นนักกฎหมายและพนักงานอัยการแล้ว ยังมีความสนพระทัยและได้ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมหลักนิติธรรม อีกทั้งยังได้ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม ใจความตอนหนึ่งว่า "เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการอำนวยความยุติธรรม ฝ่ายความมั่นคง ผู้กำกับกติกาบ้านเมือง และผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนา มีแนวโน้มที่จะต่างฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนไป ในลักษณะที่แยกส่วนจากกัน ในขณะที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ก็มักจะไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวาระในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งแสดงให้เห็นว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในทางที่ดีขึ้น"
การประชุมได้หยิบยกประเด็นต่างๆ มาหารือกัน เช่น ความจำเป็นที่จะต้องมีการประสานงานกันอย่างทั่วถึงและครอบคลุมเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ความสำคัญของการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ควรได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและแนวทางเสริมสร้างความมั่นคงสาธารณะ ซึ่งได้แก่ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบต่างๆ การผลิตและการค้ายาเสพติด รวมไปถึงปัญหาคอรัปชั่น โดยสิ่งสำคัญในการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการระบุทราบถึงปัญหาและวางแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมแต่เนิ่นๆ
การประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ มาประชุมร่วมกัน ประกอบด้วยผู้ที่มีบทบาทภารกิจด้านการป้องกันอาชญากรรม และการเสริมสร้างสังคมที่ปลอดภัย โดยเน้นกลุ่มบุคลากรที่อาจยังไม่เคยได้ตระหนักว่าบทบาทหรือภารกิจของตนนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการพัฒนา ผลลัพธ์ของการประชุมที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และในการวางนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านยุติธรรมและความมั่นคงสาธารณะด้วย
"การประชุมระดับสูงอย่างเช่นการประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือต้องการสร้างความตระหนักรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ไม่อาจแยกขาดจากกระบวนการพัฒนา เพราะทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" นายเฟโดทอฟ กล่าวเสริม
สำหรับผู้แทนร่วมประชุม 250 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันวาระแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุดแห่งประเทศไทย เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) รัฐมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการป้องกันการทุจริตแห่งเมียนมาร์ ที่ปรึกษาอาวุโสกระทรวงแผนพัฒนาแห่งชาติประเทศอินโดนีเซีย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น ประธานสถาบันอาชญาวิทยาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ คณะทูตานุทูตและผู้แทนระดับสูงจากประเทศในอาเซียน และประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้