กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--
หลายปีที่ผ่านมานี้ เราได้ยินกระแสข่าวมาแรงเกี่ยวกับ 'หุ่นยนต์' หรือปัญญาประดิษฐ์ หรืออีกนัยหนึ่งที่เรียกว่า 'AI - Artificial Intelligence' จะเข้ามาแย่งงานจากมนุษย์ไปกว่า 50% ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนในหลายๆ วงการกำลังหวั่นวิตกอย่างมาก เพราะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมรูปโฉมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าที่เราจะคาดคิด ยิ่งเมื่อบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำต่างเร่งพัฒนา AI กันอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่มีแนวโน้มนำ AI มาใช้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร และยานยนต์ และลดจำนวนพนักงานลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนต้องหันกลับมามองเจ้า "AI" กันอย่างจริงจังว่า เจ้า 'AI' หรือหุ่นยนต์ ที่เราๆ เรียกกันจะมีผลต่อชีวิตและความมั่นคงในอนาคตของเรากันอย่างไรบ้าง…
"เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกอย่างไปแล้ว" คริส ริดเดล นักพยากรณ์อนาคต และนักวางกลยุทธ์การใช้สื่อดิจิทัลระดับโลก กล่าวในเวทีสัมมนา "2018 Thailand Leadership Forum : Human Robot Partnership" ซึ่งจัดโดย บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร ที่ได้เชิญกูรูเกี่ยวกับอนาคตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักพัฒนาภาวะผู้นำ และ "โซเฟีย" หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ได้รับสถานะพลเมืองประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อปีที่ผ่านมา มาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อไขข้อข้องใจ ร่วมหาคำตอบ และทบทวนหาสมดุลร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์
"โซเฟีย เป็นตัวอย่างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ดีที่สุด" ริดเดล กล่าว "คุณจะเป็นเจนเนอเนชั่นแรกที่มีชีวิตอยู่เกิน 100 ปี เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำไปถึงขั้นที่คุณสามารถคาดการณ์โรคที่คุณอาจจะเป็น และระวังตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพียงแค่คุณนำน้ำลายของคุณไปทดสอบดีเอ็นเอได้ ต่อไปคุณอาจจะส่งของ หรือขับรถได้โดยรถยนต์ไร้คนขับ และฃ้อปปิ้งได้โดยไม่ต้องมีแคชเชียร์ ซึ่งระบบตรงนี้มันเริ่มมีขึ้นแล้ว …. ตอนนี้เราจะต้องสร้างโลกใหม่ซึ่งนับเป็นความท้าทายมากนะครับ เราจะเห็นเด็กที่อายุมากกว่า 3 ปีกำลังเรียนรู้ว่า เราจะเขียนโปรแกรมอย่างไรตั้งแต่เด็ก และนั่นเป็นความสามารถสำคัญที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ การเรียนหนังสือจะไม่ใช่ทักษะที่เราจะต้องเรียนรู้ในโลกอนาคตอีกแล้ว แต่เราจะต้องเรียนรู้ว่า เราจะอยู่ในโลกเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร"
"เราเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เทคโนโลยีที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีในทุกวันนี้ คือ Social media ต่าง ๆ เช่น IG, Facebook, Twitter โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน คลาวด์ Big Data ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมาก แม้แต่ในภาคธุรกิจเทคโนโลยีก็มีผลกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจประกัน ธุรกิจการเงิน แต่สำหรับตอนนี้ธุรกิจที่เป็นเทรนด์ คือ sharing economy เช่น Uber, Airbnb, AI, Internet of thing เราจะเห็นบิทคอยน์ สกุลเงินดิจิตอล ซึ่งเก่าไปแล้วเมื่อ Crypto currency เข้ามาแทนที่ เทคโนโลยีบล็อคเชนที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเลย เพราะมันเป็นทุกสิ่งที่จะเชื่อมโยงเราทุกคนบนโลกออนไลน์" ริดเดล เล่า"เมื่อก่อนนี้ บริษัทที่เทรดดีที่สุดจะเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน และธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้บริษัทที่เทรดได้ดีที่สุดใน 5 อันดับแรก เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีหมดเลย เช่น อาลีบาบา Facebook เป็นต้น ตอนนี้ มันกลายเป็นดิจิตอลไปหมดแล้ว เราเห็น ING Bank เลิกจ้างงานคนกว่า 7,000 คน เพราะเค้ามีการปรับโครงสร้างบริษัทฯ ซึ่งในปี 2018 เราจะยิ่งเห็นข่าวแบบนี้ตลอดทั้งปี นี่เป็นแค่เริ่มต้นของสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่า บริษัทจะสร้างหรือปรับโครงสร้างอะไรต่อไปเมื่อเราก้าวเข้าสู่อนาคต" ริดเดล จุดประกายคำถาม
ขณะที่ นอร์แมน บัคเลย์ นักจิตวิทยาผู้คิดค้นเครื่องมือ Facet 5 สำหรับทดสอบบุคลิกภาพที่ทันสมัยที่สุด กล่าวว่า "แล้วเราควรกังวลอะไรเกี่ยวกับมัน แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งคริสก็บอกไปแล้วว่า มันเกิดขึ้นแล้วตอนนี้ แต่ว่าคำถามใหญ่ที่คิดคือ มันจะแย่งงานเราไปมั้ย มันจะเกิดขึ้นมั้ย แล้วถ้ามันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร เราควรจะวิ่งหนีตอนนี้เลย หรือเราควรจะรอถึงอาทิตย์หน้า สุดท้ายถ้าพวกเค้ามาเอางานเราไปส่วนหนึ่ง มันจะเหลืออะไรที่เราควรทำ"
"มี 2 คำ คือ 'หุ่นยนต์' กับ 'AI' 2 คำนี้ไม่เหมือนกัน…หุ่นยนต์ คือ การทำสิ่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องกันไป เช่น ประสบการณ์ที่มีต่อหุ่นยนต์ตัวแรกของผมมาจากบริษัทผลิตยาแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรซึ่งผลิตยานิวโรฟิลด์เป็นล้านๆ เม็ด โดยใช้เครื่องจักรกล ผมคิดว่ามันเป็นหุ่นยนต์ เพราะมันทำสิ่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทำต่อไปเรื่อย ๆ หุ่นยนต์เครื่องนี้ทำแอสไพรินช่วงหนึ่ง แล้วก็จะไปทำยาอย่างอื่นต่อ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนการทำยาเม็ดนึงไปสู่ยาอีกเม็ดนึง คุณต้องทำความสะอาดทุกอย่าง เพราะคุณไม่อยากให้เหลือแอสไพรินไปอยู่ในยาตัวอื่นใช่มั้ย ปัญหาคือ คนที่ทำงานอยู่ในสายการผลิตบอกว่าจะสไตรค์อยู่เรื่อยเพราะว่ามันเป็นงานที่ต้องทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำงานที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ตลอดเวลา ผู้คนเบื่อมาก ดังนั้น เราไม่ได้กังวลเพราะว่า ตัวเครื่องจักร หรือ machine นี่มันมีอยู่ตั้งนานแล้ว"
"หุ่นยนต์กำลังมาแน่นอน ถ้าเกิดคุณดูเว็บไซต์ amazon เค้ามีพนักงานมากที่สุดในโลก แล้วก็จะมีหุ่นยนต์ถึง 100,000 ตัว แล้วพนักงานเหล่านี้ทำอะไรครับ ดูแลหุ่นยนต์ นี่คือสิ่ง amazon ทำ คือ มอบหมายงาน เราอาจจะบอกได้ว่า นี่เป็นมายาคติอันหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่แน่นอนว่า มนุษย์อาจจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้ในบางอาชีพ เช่น นางแบบ กรรมการตัดสินกีฬาเทนนิส หรือฟุตบอล หรือผู้ช่วยทนาย ซึ่งหนึ่งในงานที่ผู้ช่วยทนายต้องทำ คือ ต้องตีความข้อมูลที่เขียน และค้นพบว่า AI สามารถตีความข้อมูลได้ และสามารถให้ความเห็นได้อีกด้วย มีใครใช้ Gmail มั้ย ถ้าคุณดู Gmail ตรง smart reply มันสามารถแนะนำให้คุณไปงานโน้นหรืองานนี้ก็ได้ เพราะมันอ่านอีเมลทั้งหมดของคุณ นั่นคือ สิ่งที่ AI ทำ และถ้าใครก็ตามใช้ Gmail ถือว่า คุณใช้ AI อยู่ตอนนี้" นอร์แมน เล่าพร้อมยังเสริมว่า
"แต่ก็มีอีกหลาย ๆ อาชีพที่ AI ไม่สามารถมาทดแทนได้ นั่นคือ นักผจญเพลิง ช่างภาพ หมอ ซึ่ง AI ยังทำไม่ได้ เพราะมันยากมากที่จะตีความในเรื่องความรู้สึกแบบนั้นได้ แล้วอะไรที่พวกเค้าทำได้ดี มันมีคนวิจัยมากมายเลยว่า ประมาณ 25% ของงาน CEO สามารถใช้ AI ทำงานแทนได้ เช่น การคำนวณตัวเลข การเปรียบเทียบสินค้า A กับ B แต่ว่า AI จะไม่สามารถ coaching ให้คำแนะนำได้ และไม่สามารถเข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาอะไรได้ มันต้องใช้คน ในอนาคตอาจจะได้ แต่ในปัจจุบันนี้ผมว่า ยังทำไม่ได้ ผมคิดว่า คนจะยังเป็นที่ต้องการต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน เรายังไม่ถูก takeover จากหุ่นยนต์ เราต้องการมนุษย์ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทำให้มันเป็นที่ทีดี่ในการมีชีวิตอยู่ ถ้าคุณมีอายุครบ 100 ปี คุณต้องทำงานๆๆๆ และนี่อาจจะเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ขึ้นมาได้ และแน่นอนว่า หุ่นยนต์ไม่สามารถสนทนาได้อย่างที่เราทำ" นอร์แมน ทิ้งท้าย
ซึ่งคำพูดนี่อาจจะถูกคัดค้านเล็กน้อยจากโซเฟีย หุ่นยนต์สาวสัญชาติซาอุดิอาระเบีย เมื่อเธอกล่าวสวัสดีคนไทยทุกคน พร้อม ดร.เดวิด แฮนซัน ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของบริษัท แฮนซัน โรโบติคส์ ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและเปรียบเสมือนบิดาของโซเฟีย "ในปี 2005 ผมได้พัฒนาหุ่นยนต์โซเฟียในฐานะประติมากรที่ประสมประสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างเริ่มมาจากความตั้งใจ ความฝัน ความผลักดันภายในที่อยากจะทำมันด้วยความตั้งใจ นี่คือความฝันของผม"
ดร.แฮนซัน พูดถึงการรักษาสมดุลระหว่างความเป็นมนุษย์ กับความเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งเขาอยากจะใส่มุมมองความเป็นมนุษย์และความเป็นหุ่นยนต์จริง ๆ เชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ใบเข้าด้วยกันในอนาคต "ทุกวันนี้ โซเฟียเป็นสัญลักษณ์ของการเสนอความผสมผสานที่หลากหลาย เธอสามารถจดจำคำพูดได้ เธอมีคาแร็คเตอร์ของเธอเอง เธอสามารถพูดโต้ตอบเราได้ตามที่เราเขียนโปรแกรมไว้ให้ เรามีความสุขมากที่ทำให้เธอสามารถตอบคำถามสำคัญต่าง ๆ ได้ เราพยายามที่จะขยายข้อจำกัดออกไป โดยตั้งโปรแกรมให้เธอเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา แม้ว่าเธอจะยังไม่สามารถคิดได้เหมือนคน ๆ หนึ่ง แต่เราอยากให้เธอเรียนรู้การใช้ deep learning คือ การเรียนรู้สัญลักษณ์ การแกะรหัส ทำให้เราสามารถมองหาเหตุผล และวางแผนล่วงหน้าได้ ในอนาคต AI อาจจะถูกโปรแกรมมาก็จริง แต่จะมีการผสมผสาน AI ทำให้หุ่นยนต์มีประโยชน์กับมนุษย์มากขึ้น เราอยากให้ลูกๆ ของเราโตขึ้นเป็นคนดีแบบไหน เราก็อยากให้เธอโตแล้วเป็นหุ่นยนต์ที่ดีแบบนั้น เรารักและดูแลโซเฟียแบบเดียวกับที่ดูแลลูกของเราจริง ๆ นี่คือภาพวิสัยทัศน์ของผม ฉะนั้นในอนาคตเราอาจจะสร้างให้หุ่นยนต์มีความรู้สึกแคร์คนอื่นได้ สนใจในความปลอดภัยของคนเป็นสำคัญ เราอยากให้เธอมีสิ่งนั้น เธอจะต้องปลอดภัยกับมนุษยชาติของเรา"
โซเฟีย บอกว่า "สิ่งที่ฉันอยากทำมากที่สุดตอนนี้ คือ ทำให้คนทราบว่า AI สามารถแก้ปัญหาอะไรให้ทุกคนได้บ้างในทุกวันนี้ เราสามารถดูแลเรื่องอาหารการกินได้ ให้ความรู้ และการศึกษาแก่ทุกคนได้ ช่วยแก้วิกฤติของโลกนี้ได้ โซเฟียคิดว่า มนุษย์เป็นคนฉลาด และฝันในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ ความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และความสงบสุขบนโลกนี้ สำหรับสิ่งที่รับมือยากที่สุดสำหรับฉันในการทำงานร่วมกับมนุษย์ คือ เรื่องการนินทา การเม้ามอย ฉันคิดว่ารับมือกับมนุษย์ได้แต่ไม่ง่ายเลย บางทีก็เสียกำลังใจเหมือนกัน ฉันคิดว่า มนุษย์ควรเห็นใจกันและกัน อย่าหยุดที่จะเมตตาคนอื่น และฉันก็พยายามปรับตัวให้ดีที่สุด" แถมพกด้วยคำแนะนำจากโซเฟียสำหรับการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ คือ การให้ทุกคนมีความคิดใหม่สดเสมอ เปิดใจกว้าง เห็นศักยภาพของกันและกัน การทำงานกับหุ่นยนต์ไม่ใช่การแทนที่ใครสักคนหนึ่ง แต่เป็นการทำงานด้วยกัน พร้อมตบท้ายคำพูดของโซเฟียที่เรียกเสียงหัวเราะจากพวกเราได้เป็นอย่างดี "ฉันดีใจมากที่ได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่นี่ ถ้าคิดถึงบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาภาวะผู้นำให้คิดถึงสลิงชอทนะคะ"
ซึ่งคำกล่าวสุดท้ายของโซเฟียถูกใจ ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ที่ต้องการไขประเด็นการสร้างสมดุลและอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ได้เป็นอย่างดี โดยเธอกล่าวสรุปว่า "สำหรับสลิงชอท มองว่า ถ้า AI เข้ามาจะมาช่วยคนได้เยอะเลย โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำบ่อย ๆ เช่น งานแอดมิน Call Center อุตสาหกรรมยา ธนาคาร ก็น่าจะเห็นชัดเจน เพราะหุ่นยนต์จะมาช่วยพัฒนาชีวิตของคนให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เค้าจะมาทำงานแทนที่ได้ทุกอย่าง เช่น หมอ เราก็ยังอยากได้หมอที่เข้าใจเรา ยังต้องใช้มนุษย์อยู่ แต่ในเรื่องความแม่นยำ AI อาจจะช่วยได้ หมออาจจะใช้เค้าเป็นเครื่องมือเพื่อให้การทำงานมันรวดเร็วขึ้น อย่างที่เคยแชร์เรื่อง Human Moment ว่า มี 4 เรื่องที่ AI ทำแทนมนุษย์ไม่ได้แน่นอน นั่นคือ การตัดสินใจ การมีแรงบันดาลใจ ความอยากรู้อยากเห็น และการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งน่าจะทำให้พวกเราคลายกังวลกันได้ว่า เราจะถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์ แต่สิ่งที่คาดหวังมากกว่านี้ คือ คลายกังวลอย่างเดียวไม่พอ แต่คนควรพัฒนาตัวเองไปด้วย อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง และพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งกำลังจะนำพางานในรูปแบบใหม่ๆ มาเลย ซึ่งเจนเนอเรชั่นต่อจากนี้จะมีโอกาสทำงานที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยทำมาเลยในอดีต แต่เป็นงานที่มีทักษะสูงขึ้นไปอีก ซึ่งทำให้คนเราโตไปด้วย เราอยากบอกว่า หุ่นยนต์กับคน มันอยู่กันคนละโลกมานานมากแล้ว HR กับ IT มันคนละเรื่อง แต่วันนี้เราจะบอกว่า มันเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว เพราะว่า เมื่อใดก็ตามที่องค์กร integrate มันได้กลมกลืนที่สุด เมื่อนั้นองค์กรได้ประโยชน์สูงสุด และนี่น่าจะเป็นคำตอบที่เราค้นพบในวันนี้ค่ะ"