กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบื้องหลังแห่งความสำเร็จของหลายๆ คน ส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากตัวเองที่พยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความรักจากพ่อแม่ รวมถึงการให้โอกาสทางสังคมอย่างเข้าใจ เช่นกรณีของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่แม้มีความผิดปกติในด้านการพัฒนาการด้านสังคม แต่จากการดูแลเอาใจใส่จากคุณแม่ ทำให้เขาสามารถผ่านเวลาที่ยากลำบากจนเรียนได้ถึงระดับอุดมศึกษา
จากบทสัมภาษณ์ของคุณแม่เปิดเผยว่า เมื่อ 20 กว่าปี ที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักแอสเพอเกอร์ซินโดรม แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกที่อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น ไม่สนใจผู้คนรอบข้าง ไม่พูดคุยเหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ลูกสามารถเรียนหนังสือได้ดีในวิชาที่ชอบ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
คุณแม่จึงได้พยายามหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของเด็ก และได้พาลูกไปพบทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วย นักจิตวิทยา จิตแพทย์เด็ก แพทย์ประสาทวิทยาและกุมารแพทย์ ลูกได้รับการตรวจและการทดสอบตามขั้นตอนทางการแพทย์ เช่น การทำ Brain Mapping การตรวจสอบสมองด้วยเครื่อง Magnetic Resonance Imaging (MRI) การทดสอบ I.Q. เป็นต้น
ขบวนการในการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้ ใช้เวลามากและต้องมีการทำซ้ำเพื่อประเมินผลเป็นระยะๆ กว่าจะได้ข้อสรุปใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว จึงทราบว่าสิ่งที่เกิดกับลูกทางการแพทย์ เรียกว่า
แอสเพอเกอร์ซินโดรม (Asperger Syndrome)
แอสเพอเกอร์ซินโดรม ในทางการแพทย์ระบุเป็นอาการผิดปกติของการพัฒนาการ โดยมีลักษณะความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากผิดปกติ จนไม่สนใจผู้คนรอบข้าง ไม่เข้าใจทักษะ กฎระเบียบหรือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในสังคม แต่บุคคลเหล่านี้มักมีสติปัญญาและความจำดี
คุณแม่บอกว่าพฤติกรรมที่แตกต่างของลูกเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อลูกมีอายุ 3 ขวบไปแล้ว เมื่อได้เริ่มพบกับแพทย์แล้ว คำแนะนำที่คุณแม่ได้รับจึงได้นำมาปรับใช้ในการดูแลลูก ต้องทุ่มเททั้งเวลาและความเอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอนลูกเป็นอย่างมาก ทำความเข้าใจกับลูกโดยใช้เหตุผลเป็นสำคัญ ทั้งยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเพื่อเขาจะได้ซึมซับและเรียนรู้แต่ในสิ่งที่ดี
ในด้านการศึกษา แม้ว่าเขาจะเรียนได้ดีมากในวิชาที่เขาชอบก็ตาม แม่ก็ยังต้องช่วยดูแลในวิชาที่เขาไม่ชอบ เพื่อให้เขาสามารถสอบผ่านได้ครบทุกวิชาตามหลักสูตร และด้วยลูกมีความสนใจวิชาสายวิทยาศาสตร์จึงได้เลือกสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กว่าจะถึงวันที่ลูกเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัย แม่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนเป็นอย่างยิ่งในการพาลูกผ่านวันที่ยากลำบากของเขา นอกจากนี้การทำความเข้าใจกับครู อาจารย์ และโอกาสที่เขาได้รับจากบุคคลเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเรียนได้จนถึงขั้นอุดมศึกษา
ปัจจุบันเด็กชายคนนั้นเติบโตเป็นหนุ่มวัย 24 ปี กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.พิษณุ คนองชัยยศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยกล่าวว่า เรื่องการเรียนการสอนสำหรับลูกศิษย์ที่เป็นแอสเพอเกอร์ซินโดรม ไม่ได้แตกต่างไปจากนิสิตคนอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย โดยอาจารย์สามารถมอบหมายหรือให้ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อนได้อย่างปกติ แม้บางครั้งอาจจะต้องแนะนำโดยใช้เหตุผลที่ชัดเจนมากกว่าธรรมดาบ้างก็ตาม
“ถ้าพูดถึงการเรียนต้องถือว่าเขาเรียนอยู่ในกลุ่มเรียนดีมาก แต่บางอย่างเขารับรู้ได้ไม่เหมือนเรา เปรียบเสมือนการรับชาวต่างประเทศเข้ามาเรียน ซึ่งอาจจะไม่รู้วัฒนธรรมของเราได้ในทันที เราก็ต้องค่อยๆ บอกกล่าว สุดท้ายถ้าเกิดความรับรู้เข้าใจ เขาก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเราได้อย่างคนปกติทั่วไป และปกติทางมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกคนอยู่แล้ว และการได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องจากผู้ปกครอง ก็ทำให้คณะครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความเข้าใจในตัวนิสิตมากขึ้น”
ดร.พิษณุ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากความรู้ด้านวิชาการ ที่คณาจารย์พยายามเสริมสร้างในกระบวนการเรียนรู้แล้ว ทางสถาบันยังมีการส่งเสริมให้นิสิตรู้จักเรียนรู้แก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้นิสิตมีพัฒนาการทางด้านสังคมที่ดีขึ้น ทั้งการปรับตัวและมุมมอง ว่าควรจะปรับตัวอย่างไร ในการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในมหาวิทยาลัยและสังคมภายนอก
ถึงวันนี้บทพิสูจน์ของเด็กแอสเพอเกอร์ซินโดรม ได้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จุดสำคัญของการสร้างเสริมชีวิตบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ ให้สามารถดำรงอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุข ไม่ใช่เพียงการเปิดโอกาสให้เขาเลือกทำในสิ่งที่ชอบ แต่การหล่อหลอมความรักจากบุคคลในครอบครัว และการชี้แนะประกอบความเข้าใจจากผู้รู้ในฐานะครูอาจารย์ ยังเป็นส่วนผลักดันให้เด็กที่ขาดบางสิ่งบางอย่าง สามารถเติมเต็มทุกอย่างในชีวิตด้วยตัวเขาเอง พร้อมก้าวเดินไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างเข้มแข็งเหมือนบุคคลทั่วไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337