กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ณ ตำบลบางขะแยง จ.ปทุมธานี ตั้งเป้า บางขะแยง จะไม่มีมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป
สืบเนื่องจากผลการศึกษาของโครงการบำเพ็ญพระกุศล ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี 4 กรกฎาคม 2554 "โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่" จากผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 4,450 ราย พบข้อมูลมีผู้ติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 15.1 และพบข้อมูลที่น่าสนใจคือเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่พบสูงสุดคือ สายพันธุ์ 52 ซึ่งต่างจากภูมิภาคอื่นทั่วโลกที่พบสายพันธุ์ 16 สูงที่สุด จากผลการศึกษาดังกล่าว โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จึงได้จัดทำ "โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูก ณ ตำบลบางขะแยง โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์" ขึ้น เพื่อน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยต่อประชาชนในพื้นที่รอบพระตำหนักจักรีบงกช จังหวัดปทุมธานี และเพื่อขยายผลการศึกษาในชุมชน โดยให้บริการออกหน่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่สตรีในชุมชนตำบลบางขะแยงในปี พ.ศ.2556 และครั้งนี้ถือเป็นการตรวจติดตามผลในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2556-2561 ตามเป้าประสงค์หลัก "ตำบลบางขะแยง จะไม่มีมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป (Cervical Cancer Free Bangkhayaeng)"
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช และหัวหน้างานศูนย์สุขภาพสตรีของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า "โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูก ในพื้นที่ตำบลบางขะแยง เป็นการศึกษาชุมชนในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2561 โดยมีเป้าประสงค์หลักคือ ตำบลบางขะแยง จะไม่มีมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป (Cervical Cancer Free Bangkhyaeng) โดยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินงานออกตรวจคัดกรองด้วยวิธีการตรวจเซลล์ปากมดลูก และตรวจหาเชื้อเอชพีวีไปแล้วครั้งแรก เมื่อปี 2556 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1,523 ราย จากสตรีที่อาศัยอยู่ในตำบลบางขะแยงทั้งหมด 4,681 ราย ซึ่งผลการศึกษาการออกตรวจคัดกรอง เมื่อปี 2556 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชพีวี ร้อยละ 13.7 โดยเป็นสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ร้อยละ 5.6 พบผู้มีรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกขั้นสูง ร้อยละ 1.4 (22ราย) และพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 0.3 (4 ราย) และในวันนี้ (6 มีนาคม 2561) ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้นำทีมแพทย์ออกหน่วยให้บริการตรวจคัดกรองเพื่อติดตามผล ระยะ 5 ปีให้แก่สตรีที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งแรก"
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "การติดเชื้อเอชพีวี สามารถพบได้จากผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ หากยังไม่พบความผิดปกติของมดลูก ก็สามารถตรวจติดตามได้อย่างปลอดภัย และหายได้เองมากกว่าร้อยละ 90 มีเพียงส่วนน้อยที่หากติดเชื้อเป็นเวลานาน 10 ปีขึ้นไปก็สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะที่เป็นรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกขั้นสูง ก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องตัดมดลูกทิ้ง ดังนั้นการจัดกิจกรรมโครงการในครั้งนี้ จึงมุ่งหวังว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนเป็นอีกต่อไป"
สำหรับศูนย์สุขภาพสตรีจะออกให้บริการตรวจคัดกรองตามโครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูก ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบางขะแยง ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ตลอดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2561 โดยตั้งเป้าหมายตรวจติดตามผลครบจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,523 ราย