กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กสม. จัดงานวันสตรีสากล พร้อมเชิดชูเกียรติ 6 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประจำปี 2561 ด้าน "อังคณา" ห่วง ประเด็นคุกคามทางเพศ-ฟ้องร้อง เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว โดยเฉพาะคดีประโยชน์สาธารณะ เล็งผลักดันกฎหมายคุ้มครอง ขณะที่รองผู้แทนUN OHCHR ชี้ รัฐไทย ต้องประณามความรุนแรงที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงทุกรูปแบบ เผย ผู้แทนพิเศษUN เคยขอเยี่ยมชมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยตั้งแต่ปี 53 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ แนะ ให้ส่งสัญญาณบวกเชิญมาอีกครั้ง นักวิชาการ ห่วง อ้างเหตุความมั่นคงของรัฐ ใช้กฎหมาย เสี่ยงละเมิดสิทธิ ขณะที่เวทีเสวนา ชงข้อเสนอลดความเสี่ยงภัยคุกคาม ชี้ 3 ปีที่ผ่านมา ถูกคุกคามมากที่สุด พร้อมเรียกร้องรัฐยกเลิกกฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาด – คำสั่งคสช. สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เห็นต่าง
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2561 พร้อมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยปีนี้มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติผู้หญิง และ องค์กร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ , ทีมฟุตบอลบูคู FC , นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค , น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) , นางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา , น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิผู้หญิงและกลุ่มเพศสภาพ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานและเรียนรู้จากผู้หญิงหลายคนที่อาจไม่มีใครรู้จัก โดยจำนวนข้อร้องเรียนต่างๆที่เข้าสู่การพิจารณาของกสม. หลายสิ่งได้นำสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการป้องกันและยุติการคุกคามทางเพศในการทำงาน แนวทางการตรวจค้นร่างผู้หญิงในฐานะผู้ต้องหาหรือนักโทษ การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแสวงหามาตรการทางเลือกแทนการกักเด็กและแม่ในครอบครัวผู้ลี้ภัย ทั้งนี้การทำงานด้านปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครองหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อทำให้เงียบ แต่ความท้าทายที่เลวร้ายที่สุดที่ผู้หญิงนักต่อสู้ต้องเผชิญเหมือนกันคือ การถูกคุกคามทางเพศเพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัว และเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่
นางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมากสม.ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการคุกคามนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิฯเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า "การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPPs)"ซึ่งมีผลทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง ได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต รวมถึงความกังวลในความปลอดภัย โดยกสม.มีข้อสังเกตว่าการฟ้องร้องนอกจากทำให้เกิดความหวาดกลัว แล้ว ยังทำให้นักสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการทำกิจกรรมได้อย่างปกติ ที่สำคัญคือภาระในการต้องหาค่าใช้จ่ายเพื่อใช้จ่ายทั้งในการประกันตัวและการสู้คดีซึ่งทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน
"ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งพบว่า 2 ปีที่ผ่านมา สถิติการคุกคาม ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิฯเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพิ่มขึ้นมาก และพบว่านักปกป้องป้องสิทธิฯที่ออกมาต่อสู้อายุน้อยที่สุดคือเยาวชน ส่วนอายุมากที่สุด คือ หญิงวัย 78 ปี นอกจากนี้ไม่มีกรณีใดเลย ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถนำบุคคลที่กระทำความผิด ทั้งทำร้าย สังหาร ใช้ความรุนแรง มาลงโทษได้ และยังพบการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเรื่องน่ากังวลที่ปัจจุบัน SLAPPs ในทางอาญา ถูกนำมาใช้โดยบริษัทขนาดใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานในการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ หรือการตรวจสอบรัฐ ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้น จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือ คุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ" นางอังคณากล่าว
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (SLAPPs) เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law)
ด้านนางคาเทียร์ คริริซี่ รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UN OHCHR) กล่าวปาฐกถา "20 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" ว่า ในวาระวันสตรีสากลวันนี้พวกเรามาที่นี่เพื่อตระหนักถึงการสร้างคุณูปการที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ผู้ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องทำงานในสภาวะที่มีความยากลำบากและท้าทาย ก็ยังคงสร้างคุณูปการที่สำคัญ ในการทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนสิทธิสิ่งแวดล้อม ประเด็นเพศสภาพและความหลากหลายทางเพศ และสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย
"ในวันที่ 9 ธันวาคมที่จะถึงนี้จะครบรอบ 20 ปีหลังจากการประกาศสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงเจตจำนงที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อที่จะให้มีการเข้าถึงและการใช้ปฎิญญานี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบเบื้องต้นของรัฐที่จะเคารพ ที่จะคุ้มครองและจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน"
รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องให้การยอมรับต่อสาธารณะถึงบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และประณามถึงทุกกรณีความรุนแรงที่กระทำต่อนักปกป้องสิทธิทุกคน ทั้งนี้รัฐบาลไทยควรที่จะปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิโดยรัฐและทั้งที่ไม่ใช่รัฐ โดยทำให้มั่นใจว่ากระบวนการสืบสวนจะเกิดขึ้นทันทีและไม่เอนเอียง และผู้ที่กระทำจะต้องถูกลงโทษในสภาวะที่เหมาะสม โดยประเทศไทยสามารถที่จะสร้างมิติเชิงบวกในกรณีได้โดยเชิญผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติที่ดูแลสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะให้ข้อเสนอแนะต่อมาตรการที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการเพื่อที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง ซึ่งทราบว่าที่ผ่านมามีผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติได้เคยขอมาเยี่ยมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับในเชิงบวก อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า UN OHCHR พร้อมที่ยืนเคียงข้างและสนับสนุนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและนักปกป้องสิทธิที่เป็น LGBTI ในทุกหนทางที่สามารถทำได้ และขอแสดงความซาบซึ้งถึงการทำงานอย่างหนักของนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย
นายวิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (SOGI) สหประชาชาติ กล่าวปาฐกถา "บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน" ว่า ผู้หญิงผู้พิทักษ์สิทธิในบางพื้นที่ถูกเรียกว่า "แม่มด -กบฏ –ผู้ก้าวร้าว" นี่คือสถานการณ์ที่ท้าทายทั่วโลก วันนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนหลายอย่างในไทยดีขึ้น เช่น กฎหมายครอบครัวที่มีการปฏิรูปไปมาก มีความเท่าเทียมกันในการฟ้องหย่า แต่ยังน่าเป็นห่วงในหลายประเด็น เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ มีข้อยกเว้น 2 กรณีที่ถือเป็นจุดอ่อน คือ ความมั่นคงแห่งรัฐ และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่ยังหลวมอยู่เพราะมีการประนอมข้อพิพาทมากเกินไป
นายวิทิต กล่าวว่า แม้มีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังคงมีการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐมากเกินไป เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดการใช้กฎหายเหล่านี้และใช้หลักนิติธรรมเพื่อนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้หลายมาตราของกฎหมายอาญาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก เช่น บทบัญญัติมาตรา 112 มาตรา 116 รวมไปถึงคำสั่งที่ออกมาจากผู้มีอำนาจ ดังนั้นขอเรียกร้องว่าต้องหยุดใช้กฎหมายที่ไม่สมดุลในสายตาของสากล
ขณะที่เวทีอภิปรายเรื่อง "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเสี่ยงภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง" น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ทำงานกับภาคประชาชนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540-2550 เห็นถึงการเติบโต ทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน พร้อมหลักการประชาธิปไตย แต่หลังรัฐประหาร 3 ปีมานี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ สิทธิมนุษยชนถูกลิดรอน ออกไป เหมือนกับว่าต้องมาเริ่มเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และหลักการประชาธิปไตยกันใหม่ รัฐบาลใช้กลไก อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่าที่ผ่านมาในการจำกัดสิทธิมนุษยชนของภาคประชาชน ทำให้ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่าเดิม มีความเสี่ยงในมิติทั้งภัยคุกคาม และในเชิงชีวิต ซึ่งทำให้เราเหมือนทำงานที่ยากลำบากมากขึ้นในเชิงที่ต้องคำนึงว่าถ้าเราเข้าไปสนับสนุนประชาชนใช้สิทธิ แล้วหลังจากที่ประชาชนใช้สิทธิแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งดังนั้นเราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของประชาชนในประเด็นนี้มากขึ้นว่าเดิม
"เราทำงานด้านกฎหมาย อาจทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยโดนคุกคามเท่าไหร่ แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กลับรู้สึกว่าโดนคุกคามมากกว่าที่เคยโดยผ่านมาทั้งหมด เช่น ไปอบรมชาวบ้าน จะมีทหาร ตำรวจ ทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ มาถ่ายรูปเรา ซักประวัติ ถามชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง มานั่งฟังที่เราอบรมชาวบ้าน เราเองไม่ได้ซีเรียสในการที่เจ้าหน้าที่จะมานั่งฟัง แต่เป็นความเสี่ยงของชุมชน เพราะเราอบรมทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิ แต่เมื่อเราออกมาแล้ว แล้วพี่น้องเราล่ะ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีพี่น้องโดนตามโดนตามในพื้นที่" น.ส.สุภาภรณ์ กล่าว
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยังระบุด้วยว่า กฎหมาย ประกาศ และคำสั่งคสช. ที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอนสิทธิ จำกัดสิทธิของประชาชนควรถูกยกเลิก แล้วกลับมาใช้กฎหมายตามปกติ ให้พื้นที่กับความเห็นต่างได้แล้ว เพราะควรทำบรรยากาศเป็นบรรยากาศที่นำไปสู่การเลือกตั้ง สู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการลดการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และมีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนเห็นต่าง
ด้านนางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา กล่าวว่า ได้รับภารกิจพิเศษจากรัฐบาล ให้ดูแลผู้อพยพทางเรือในสภาวะไม่ปกติ กลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่หนีภัยสงครามจากพม่าโดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยกลุ่มคนเหล่านี้ถูกแสวงหาผลประโยชน์และตกเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ของไทย และพม่า ซึ่งเมื่อถูกจับกุมกลุ่มเด็กกับผู้หญิงจะถูกนำตัวมาส่งที่บ้านพักในระหว่างรอเดินทางไปประเทศที่สาม ซึ่งบ้านพักไม่ได้เป็นสถานที่คุมขัง ทำให้นายหน้าอาศัยช่องว่างเข้ามาติดต่อชักจูงออกไป โดยมีเคสหนึ่งที่ติดต่อขอความช่วยเหลือกลับมาที่เรา จึงตัดสินใจแจ้งขอความร่วมมือไปที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพังงา จนสามารถช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กกลับมาได้ ทราบว่าเขาถูกลวงละเมิดทางเพศจากนกต่อที่เป็นลูกน้องของเจ้าหน้าที่หน่วยหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับบิ๊กระดับสูง ซึ่งบิ๊กรายดังกล่าวได้โทรศัพท์มาขอให้เราหยุดเรื่อง แต่ยืนยันว่าเมื่อเดินหน้าไปแล้วก็หยุดไม่ได้
"ทราบจากเหยื่อว่าถูกเอาโซ่ล่ามคอ ใช้รองเท้าตบหน้าตบหัว แต่พอขึ้นศาล สุดท้ายเราก็แพ้คดี เพราะเหยื่อเขาขอไม่เอาผิดแล้ว เพราะอยากกลับไปอยู่กับครอบครัว ไม่อยากเดินทางมาให้การแล้ว กลายเป็น ตัวเอง และเจ้าหน้าที่ถูกตรวจสอบแทน โดยถูกกล่าวหาว่าอยู่ในขบวนการซื้อขายโรฮิงญา แต่เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินไม่พบสิ่งผิดปกติ เพราะเราไม่ได้ทำ เลยเอาผิดกับเราไม่ได้ ขณะที่คนที่เป็นคนทำจริงๆถูกยกฟ้อง แต่ปีนี้กำลังอยู่ระหว่างการรื้อฟื้นคดีเพราะมีหลักฐานคลิปวีดีโอต่าง ๆเพิ่มเติม"นางดารารัตน์กล่าว
นางดารารัตน์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า กฎหมายของไทยดีมาก แต่ท้ายสุดอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่หยิบกฎหมายมาเป็นเครื่องมือเอาผิดผู้กระทำความผิด เพราะเกิดความเกรงกลัว ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นพวกตนถูกตั้งกรรมการสอบ ทำให้คนทำงานเกิดความท้อใจ บางครั้งก็ต้องต่อสู้กับพวกนายหน้าที่มีอิทธิพล ตนยังต้องไปขอยืมปืนจากนายอำเภอเพื่อมาคุ้มครองตัวเอง นอกจากนี้เห็นว่าต้องมีการประสานความร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหนียวแน่น เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ที่ว่าพวกตนเดินไปข้างหน้า แต่เพื่อนหน่วยงานอื่นกลับถอนตัวหมดเพราะกลัวอิทธิพล
ขณะที่นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการต่อสู้ปกป้องสิทธิฯก็ถือว่ายากลำบาก เพราะเกิดจากการที่เราได้รับผลกระทบก่อน เคยเป็นคนที่ถูกไล่รื้อก่อน ทำให้รู้สึกถึงไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ยากจนที่เข้าไม่ถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย หรือ ที่ดิน จนทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง และนำไปสู่การแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้คือแรงบันดาลใจที่ให้ลุกขึ้นมาทำงานด้านนี้ ให้ความรู้ กับคนที่ขาดโอกาสเพื่อให้เขาได้เข้าถึงสิทธิ อย่างไรก็ตามแม้จะถือเป็นงานที่ยาก ก็มีความสำเร็จเป็นรูปธรรมจำนวนมาก ส่วนเรื่องการถูกคุกคามนั้น ก่อนหน้านั้นเคยโดนปรับทัศนคติ มีคนนอกเครื่องแบบจับตามอง เฝ้าดูพฤติกรรมตนอยู่ที่บ้าน ว่าตนจะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ และอีกครั้งก็ที่ทำงานให้กับชุมชนแห่งหนึ่งที่ถูกไล่รื้อ มีสันติบาลโทรมาถาม คอยจับตามองอยู่ แต่ก็ไม่สนใจแต่อย่างใด
"ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อก่อนว่าเราต้องการอะไร เพราะเครือข่ายสลับสี่ภาค ไม่ได้ยุให้ชาวบ้านไปยึดที่ดินของเขา เราต้องมีข้อเสนอชัดเจน แต่ถ้าชาวบ้าน มาขอความช่วยเหลือในเรื่องของการต่อรองค่ารื้อถอนเราก็ไม่ทำ เพราะการต่อรองใครก็ต่อรองได้ ไม่จำเป็นต้องมาใช้องค์กรเครือข่าย แต่ถ้าต้องการแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต เราก็จะลงไปทำงานให้เกิดการรวมกลุ่ม การจัดตั้งออมทรัพย์เข้าถึงแหล่งงบประมาณ อีกเรื่องของความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน เราเกี่ยวข้องกับการเมือง กับสังคมหมด ถ้าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐต่างๆได้" ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าว
น.ส.นุรฮายาตี ยูโซ๊ะ ตัวแทนจากทีมฟุตบอลบูคู กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะรับในนามทีมฟุตบอล ซึ่งถือว่ามีคุณค่า มีความหมายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เด็กตนเป็นคนชอบเล่นกีฬา ลองเล่นไปเรื่อยๆ รวมถึงฟุตบอลด้วย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เล่นฟุตบอลแล้วลูกบอลเข้าไปในกระโปรง เพราะสมัยนั้นผู้หญิงมุสลิมต้องใส่กระโปรงยาวเท่านั้น ทำให้เด็กผู้ชายไม่ให้ตนเล่น เพราะยุ่งยาก บอกให้ไปเล่นขายของเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่น จากนั้นจึงไม่ได้เล่นฟุตบอลอีกจนกระทั่งเจอประกาศของทีมบูคู เลยกลับมาเล่นอีกครั้ง ซึ่งจำได้แม่นว่าการกลับลงสนามฟุตบอลครั้งแรก หลังจากที่หยุดเล่นไป ดีใจและตื่นเต้นมาก ตอนนั้นจำได้ว่ามีเด็กผู้ชายที่อยู่แถวนั้นก็มองพวกตนแปลกๆ แต่ครั้งนี้ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้แปลกที่ชอบเล่นฟุตบอล เพราะในทีมยังมีผู้หญิงคนอื่นชอบเล่นฟุตบอลเหมือนกัน และเป็นโชคดีที่ครอบครัวของตนค่อนข้างที่จะเปิดกว้าง ให้อิสระอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้
"อยากให้เปิดพื้นที่ให้ทุกคนต้องเล่น พอตอนนี้มีคนรู้ว่าเราเปิดพื้นที่เล่นตรงนี้ ก็จะมีทีมผู้หญิงบางทีมจากที่อื่นเขาก็ติดต่อมาขอเตะกับเรา ส่วนในอนาคตก็วางแผนไว้ว่าเราจะฝึกเป็นโค้ช และลงพื้นที่สอนให้เด็กผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดชายแดนใต้ได้เล่นฟุตบอลเหมือนกับเราบ้าง" น.ส.นุรฮายาตีกล่าว
ด้านน.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ผู้ชายเป็นแกนนำ เป็นคนกำหนดประเด็น หรือ กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของการชุมชน แต่หลายปีที่ผ่านมาผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการปกป้องสิทธิของตัวเองและชุมชนมากขึ้น ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานนั้น ในฐานะนักข่าวสืบสวนสอบสวนมักจะโดนขู่ หรือ ถูกเสนอให้เงิน หรืออะไรต่างๆ เสมอ โดยการข่มขู่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งตนไปทำรายงานพิเศษเรื่องโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา โดยพบว่า ที่ดินที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 600-700 ไร่เป็นของนายทุนที่กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านไว้และมีอดีตผู้นำชุมชนคนหนึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินระหว่างนายทุนกับ กฟผ.ตนจึงเข้าไปสอบถาม แต่คนขับรถของทีมงานได้ขับเข้าไปในพื้นที่ของเขา เพราะพื้นที่บริเวณนั้นติดกับที่ดินสาธารณะ แม้สุดท้าย ทีมงานตัดสินใจเลี้ยวรถออกจากพื้นที่นั้นเพื่อมาจอดในพื้นที่สาธารณะ แต่กลับมีรถคันหนึ่งขับรถมาดักทางเข้าออก แล้วมีผู้ชาย 2 คนเดินลงมาจากรถพร้อมกับปืนเข้ามาหาทีมงาน
"ตอนนั้นถามว่า ตกใจไหม ตกใจมาก แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ ยิ้มและยกมือสวัสดี แล้วก็แนะนำตัวเองว่า มาทำอะไร เป็นใคร จากนั้นสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น เราจึงขอสัมภาษณ์เขาเพื่อให้เขาอธิบาย จากสถานการณ์ครั้งนั้นเราเลยคิดว่า อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้หญิงเขาจึงไม่ทำอะไร แต่ตอนนั้นเราก็รีบออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด แล้วก็โทรบอกหัวหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้เข้าแจ้งความ และต่อมาหลังเรื่องนี้ออกอากาศไปแล้ว กลุ่มคนจากฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าก็โทรมาข่มขู่ เพราะเขาไม่พอใจเนื้อหาที่เรานำเสนอ โดยมีถ้อยคำหนึ่งระบุว่า "อย่าเข้ามาพื้นที่อีกนะ" น.ส.หทัยรัตน์กล่าว
น.ส.หทัยรัตน์ ยังกล่าวเรียกร้องให้ ขอให้รัฐบาลคืนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ยกเลิกคำสั่งควบคุมปิดกั้นการทำงานของสื่อทุกแขนง ยกเลิกการติดตามการทำงานของสื่อมวลชน โดยยกเลิกให้ทหารไปเฝ้าสถานีโทรทัศน์ได้แล้ว นอกจากนี้ขอให้เปิดเผยผลการสอบสวนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์กรณีผู้บริหารสื่อถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศลูกน้องสาวทั้งหมดด้วย
ขณะที่ น.ส.ไหม จันทร์ตา ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า ไม่ว่าเอ็มพาวเวอร์จะทำอะไร ทุกคนยังมองเห็นว่า พนักงานบริการผิดกฎหมาย แต่รางวัลนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า พนักงานบริการมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังมีผู้หญิงเอ็มพาวเวอร์ อีก 35 คน ที่วันนี้ มาไม่ได้ เพราะ ยังไม่ได้รับสิทธิ หลังจากเหตุการณ์ บุกทลายร้านวิคตอเรีย ซีเคร็ทเมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา เราต้องขอบคุณ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเฉพาะคุณอังคณา นีละพิจิตร ที่คอยอยู่กับเราตั้งแต่เหตุการณ์นาตารีอาบอบนวด และไปร่วมกับต่อสู้ที่เมืองเมืองเจนีวากับการประชุมเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยการประชุมในครั้งนั้นคณะกรรมการ CEDAW ได้บอกกับรัฐบาลไทยต้องปกป้องสิทธิพนักงานบริการได้แล้ว รางวัลนี้ แสดงให้เห็นว่า สิทธิ ที่เอ็มพาวเวอร์เรียกร้องมาตลอดนั้น ได้ถูกมองเห็นว่า มีพนักงานบริการถูกละเมิดสิทธิอยู่จริงๆ
ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ว่า เอ็มพาวเวอร์เป็นองค์กรพนักงานบริการ ที่พนักงานบริการต่อสู้เรียกร้องในสิทธิของเราเอง ตลอด 32 ปี ที่ผ่านมา เอ็มพาวเวอร์ต่อสู้เพื่อ สิทธิทางกฎหมาย การศึกษา สุขภาพ การเดินทาง และสิทธิแรงงานเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อมีสิทธิพิเศษ แต่เราเรียกร้องเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเราทำงานผ่านมา 14 รัฐบาล แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่มาปกป้องสิทธิของเราอย่างแท้จริง เอ็มพาวเวอร์ ต่อสู้ให้ยกเลิกไม่เอาผิดทางอาญากับอาชีพนักงานบริการ เพื่อแก้ปัญหาการเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน ลดการจ่ายส่วย และลดปัญหาในสังคมอื่นๆ และให้ บังคับใช้กฎหมายแรงงาน เพื่อให้เราเข้าถึงสิทธิการทำงานที่ยุติธรรมและมีความปลอดภัย
น.ส.ไหม ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ของการถูกข่มขู่คุกคามว่า เอ็มพาวเวอร์เราถูกคุกคาม ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เรามักถูกมองว่า ทำงานกับผู้หญิงไม่ดี ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงและ สิทธิไม่ใช่เรื่องของพนักงานบริการ เราต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้ถูกมองเห็น และฟังเสียงของพนักงานบริการเมื่อพนักงานบริการ ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิ กลับถูกกระทำซ้ำ เช่น เมื่อปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พนักงานบริการ 21 คน ออกมาเรียกร้องสิทธิคุ้มครองพยาน โดยร้องกับศาลและคณะกรรมการสิทธิ เมื่อเราได้รับการคุ้มครองในฐานะพยาน แต่กลับถูกลงตราพาสปอร์ต ห้ามกลับเข้าประเทศไทย 100 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษและกระทำซ้ำกับเรากว่าเดิม