สวทช. ระดมกึ๋นกลุ่มพันธมิตรภาคอุตฯพลาสติกชูยุทธศาสตร์แผนที่นำทาง เน้นเติบโตยั่งยืนในระยาว

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2007 14:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สวทช.
อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศ และที่สำคัญยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องนานาประเภทที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิต แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยยังต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทั้งด้านการผลิต บุคลากร การตลาด และด้านการค้าระหว่างประเทศ
ดังนั้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระดมความคิดเห็นการจัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ( Plastic Industry Development Roadmap series 3 ) ในหัวข้อ “กำหนดผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีพลาสติกที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย” เพื่อพิจารณาความสำคัญของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่ออุตสาหกรรมพลาสติกไทย รวมทั้งความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ต้องดำเนินการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยง และดำเนินงานที่ให้ผลเป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกได้อย่างเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ และยั่งยืนต่อไป
นายพิภพ พฤกษมาศน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องนี้ว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นโครงการใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวิธีการผลิต ซึ่งเป็นตัวที่ชี้เป็นชี้ตายว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาวหรือไม่เพราะขณะนี้ทั่วโลกได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว
“ที่ผ่านมาถือได้ว่าเราอยู่ในสถานะที่ดี ผู้ประกอบการมีความคิดริเริ่ม ช่วยเหลือตนเองจนประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่การแข่งขันก็เป็นเงาตามตัวเช่นกัน ดูได้จากตัวเลขการนำเข้าเริ่มมากขึ้น ขณะที่การส่งออกลดน้อยลง ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาและปรับตัวกันอย่างจริงจัง ซึ่งการระดมสมองครั้งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำพาผู้ประกอบการเดินไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต”
ด้าน นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยและประโยชน์ที่ได้รับในการระดมสมองว่า ปัจจุบันผู้ผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นต้นน้ำมีกำลังการผลิตประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี โดยครึ่งหนึ่งจะส่งออกในรูปของวัตถุดิบ อีกครึ่งหนึ่งจะถูกแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศและส่งออก ซึ่งมูลค่ารวมของตลาดทั้งหมดปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท
“ในปีที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันของเราถดถอยลงไป อีกทั้งการขยายการผลิตไม่ค่อยเกิดขึ้น ความมั่นใจในการค้าลดลง ขณะเดียวกันในภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกอุตสาหกรรมพลาสติกตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ดังนั้น วิธีการแก้ไขที่สามารถช่วยได้คือผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนหันมาผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออก”
สำหรับการระดมสมองที่จัดทำมาอย่างต่อเนื่องนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำแผนในระยะกลางและระยะยาว ประมาณ 5-10 ปี ส่วนในระยะสั้นนั้นคงต้องรอให้เป็นไปตามสถานการณ์และรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะมีทิศทางในการช่วยเหลือแก้ไขอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีบางบริษัทฯ ที่มีศักยภาพพอก็ได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศอื่นที่เอื้ออำนวยในเรื่องการส่งออก เป็นการย้ายแบบถาวรเพื่อให้เกิดการสมดุลและตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญคือบริษัทฯ สามารถอยู่ได้ต่อไป
“แนวโน้มของตลาดในอนาคตนั้นจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยตามไปด้วย อีกทั้งไม่เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงต้องพัฒนาและปรับปรุงในส่วนนี้ให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม การร่วมระดมสมองในทุกครั้งที่ผ่านมานั้นได้ช่วยให้เราสามารถเดินไปสู่แผนที่นำทางได้ชัดเจนขึ้น เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐด้วย ซึ่งเมื่อได้บทสรุปออกมาแล้วจะทำให้ทราบว่าแนวทางเดินของอุตสาหกรรมพลาสติกควรจะเดินไปในทิศทางใด และต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไปสู่การเจริญเติบโตแบบยั่งยืน
“คาดว่าในอนาคตคงต้องมีหลายหน่วยงานเกิดขึ้นมา เช่น หน่วยงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการที่ทันสมัยของลูกค้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแม่พิมพ์ และการพัฒนาทางด้านไบโอพลาสติก แม้กระทั่งในเรื่องของการกีดกันทางการค้า ท้ายที่สุดอาจจะต้องมีการจัดตั้งเป็นสถาบันพลาสติกขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมในการแก้ปัญหาหรือดำเนินการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่กระจัดกระจายเช่นในปัจจุบัน” นายสมศักดิ์ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ