กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทย เอาจริงเรื่องตรวจสอบการเลี่ยงค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (CESS) ร่วมมือกรมศุลกากรสืบหาข้อมูลตามด่านทั่วประเทศ หากพบสิ่งผิดปกติใดๆทั้งจากภายใน กยท.และภายนอกจะไม่ละเว้น เพราะถือการบริหารจัดเก็บเงิน Cess คือหน้าที่หลักของ กยท. ต้องดูแล
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ได้เคยประเมินเปรียบเทียบสถิติพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยโดยใช้ฐานข้อมูลเดิมเป็นเกณฑ์ พบว่าหากปี 2560 มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 20.5 ล้านไร่ จะให้ปริมาณผลผลิตประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งต่างจากข้อมูลสำรวจจากดาวเทียมของ Gistda ในปีเดียวกัน ที่มีพื้นที่ปลูกยางมากกว่า 32 ล้านไร่ ต่างกันเกือบ 11.5 ล้านไร่ จึงได้เสนอข้อสังเกตที่ว่า ปริมาณผลผลิตยางที่แท้จริงอาจคลาดเคลื่อนไปมาก และตัวเลขการส่งออกจริงอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งคณะกรรมการ กยท. ไม่นิ่งนอนใจและให้ความเห็นว่า หากมีการลักลอบส่งออกยาง หรือการหลบเลี่ยงภาษีส่งออกจริง ต้องดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยทำงานประสานร่วมมือกับกรมศุลกากรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงพื้นที่เพื่อไปสังเกตการณ์ตามด่านต่างๆทั่วประเทศ และขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อหาทางแก้ไขระบบให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน
ผู้ว่าการฯ กล่าวเสริมว่า เพื่อป้องกันการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องการหลบเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา หรือ Cess ซึ่งส่งผลมาถึงการที่ กยท. ต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (Cess) เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใส ข้อมูลตรวจสอบได้ทั้งระบบ หากพบว่ามีการทุจริตจริง กยท. จะดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายต่อผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิดอย่างแน่นอน
"สำหรับปัญหาความรั่วไหลในการจัดเก็บเงิน Cess ถือเป็นเรื่องสำคัญของทั้งผู้บริหารและพนักงาน กยท. ที่จะร่วมกันในการสอดส่องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างให้กับกลุ่มคนใดหรือบุคคลใดเข้ามาหาประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะการบริหารจัดเก็บเงิน Cess เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนายางพารา ถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ กยท.จะต้องดูแลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการนำไปพัฒนาวงการยางพาราไทยต่อไป" ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย