กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1/2561 พิจารณา (ร่าง) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ภายใต้ 6 มาตรการสำคัญ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณา (ร่าง) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงการเตรียมความพร้อมและการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม –10 เมษายน 2561 และช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2561 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ให้เหลือน้อยที่สุด มุ่งเน้นการเฝ้าระวัง 109 อำเภอ ใน 52 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ภายใต้ 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสิ่งแวดล้อม มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ มาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ และมาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งที่ประชุมฯ ได้พิจารณาการบูรณาการข้อมูล 3 ฐาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ให้ความสำคัญกับการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการ ด่านชุมชนในระดับพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. หรือ 10 รสขม ได้แก่ 1.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 2.ขับรถย้อนศร 3.ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5.ไม่มีใบขับขี่ 6.แซงในที่คับขัน 7.เมาสุรา 8.ไม่สวมหมวกนิรภัย 9.มอเตอร์ไซต์ไม่ปลอดภัย 10.ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนคนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า ศปถ.ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ภายใต้กลไก "ประชารัฐ" พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการเฝ้าระวังความปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการปรับปรุงสภาพยานพาหนะ แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมจราจร รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรและกลไกการบริหารงานความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ เพื่อให้ทุกการเดินทางใน 365 วัน บนถนนเมืองไทยเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ศปถ.จะได้นำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของที่ประชุมฯ ไปปรับปรุง (ร่าง) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ให้มีความสมบูรณ์และครบถ้วน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ศปถ.โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนมุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยยึดการดำเนินงานตามกรอบแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554 – 2563 ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างการสัญจรที่ปลอดภัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน