กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเต็มสูบผลักดันการพัฒนากระบวนการผลิต สนับสนุนการใช้หุ่นยนต์แขนกลและระบบอัตโนมัติเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs โดยเร่งสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการเห็นประสิทธิภาพของหุ่นยนต์แขนกล พร้อมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรไทยเพื่อรองรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม งานมหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ 2561 และเตรียมเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ(Learning Factory) ภายใต้โครงการ Lean Automation System Integrator หรือ LASI โดยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้เป็นศูนย์กลางให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้เทคโนโลยีและทดลองการใช้งานหุ่นยนต์แขนกลในกระบวนการผลิตจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
ด้วยความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงออกแผนการเพิ่มศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แบบบูรณาการทุกด้านเพื่อการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งการพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เป็นหนึ่งในพันธะกิจที่ กสอ. เร่งผลักดัน จึงได้นำเอาหุ่นยนต์แขนกลและระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ สามารถทำงานที่มีความเสี่ยงสูงได้ต่อเนื่อง ทั้งยังประหยัดเวลาในการผลิตและประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายประเภทธุรกิจ มาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อช่วยพัฒนากระบวนการผลิตของผู้ประกอบการSMEs ให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
โดยในเบื้องต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในระดับต้นน้ำ ให้รับรู้และเข้าถึงการใช้งานหุ่นยนต์แขนกลและระบบอัตโนมัติ โดยได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขัน "มหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ 2561" ประเภทหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างถึงความสามารถของบุคลากรไทยที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยทีมที่ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ได้แก่ ทีมไดโน โรบอท วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ ซึ่งใช้เวลาในการเชื่อมเหล็กด้วยหุ่นยนต์แขนกลเพียง 18 นาที ทั้งนี้การแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนนั้น แสดงให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของความสามารถของเทคโนโลยีแขนกลในการเชื่อมเหล็ก ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว ต่างจากการใช้แรงงานแบบดั้งเดิม แต่เทคโนโลยีแขนกลและระบบอัตโนมัติยังสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับอีกหลายกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับการแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้น
นอกจากนั้น ในระยะยาวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้เตรียมเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) ภายใต้โครงการ Lean Automation System Integrator หรือ LASI ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้เข้าถึงและทดลองใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น นำหุ่นยนต์แขนกลมาติดตั้ง พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นที่พร้อมมาถ่ายทอดความรู้ ให้การฝึกอบรมและคำปรึกษาเพื่อการพัฒนาระบบการผลิตของผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมวางแผนที่จะเปิดศูนย์เรียนรู้ที่ กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 นี้