กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค
จันทบุรี นอกจากจะเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ ทั้งหาดทราย น้ำตก ภูเขา ย่านเมืองเก่า และมีชื่อเสียงในด้านการเป็นแหล่งผลิตพลอยเมืองจันท์แล้ว จันทบุรียังมีงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงนอกเหนือจากการทำเสื่อจันทบูร นั่นก็คือ "แหวนกล" งานหัตถกรรมเครื่องเงิน-เครื่องทอง อันเป็นภูมิปัญญาโบราณที่น่าทึ่ง และช่วยเสริมให้พลอยเมืองจันท์เปล่งประกายอวดสู่สายตาชาวโลกด้วย
แหวนกล...เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมั่งมีศรีสุข และความเป็นสิริมงคลแห่งภูมิปัญญาโบราณ ด้วยการออกแบบรวมวงแหวน 4 - 8- 12 ก้าน ให้เกาะเกี่ยวกันเป็นแหวนหนึ่งวง เพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้สวมใส่ที่ได้ครอบครองแหวนอันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
กลไกในวงแหวนมักจะทำจากเงินหรือทองแบบโบราณ ซึ่งผู้สวมใส่และช่างจะต้องร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ต้นจนจบ ผ่านแบบร่างกระดาษ การตี รีด สาน และสลัก เพื่อให้เกิดลวดลายตามต้องการ แล้วสอดสานก้านแหวนทองคำหรือเงินก่อกลไกสำเร็จเป็นตัวเรือนให้มีลักษณะเฉพาะขึ้น
แหวนกลแต่ละวงจึงมีรูปแบบไม่เหมือนกัน แหวนทุกวงทำด้วยมือทุกขั้นตอน การทำแหวนกลจึงเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะชั้นสูงซึ่งสืบทอดมาจากครูช่างโบราณ นับเป็นเครื่องประดับที่ซ่อนปริศนากลไกไว้บนนิ้วของผู้สวมใส่ มีเพียงผู้เป็นเจ้าของและนายช่างเท่านั้นที่รู้วิธีประกอบแหวน ว่าจะต้องจับด้านใดสอดก้านใดให้ออกมาเป็นวงแหวน "แหวนกลจึงเป็นเสมือนเครื่องประดับแห่งปัญญา พันธะทางจิตใจ"
ช่างหรีด - ชูเกียรติ เนียมทอง ชายวัยสี่สิบต้นๆ ผู้คลุกคลีอยู่กับงานช่างทำแหวนกลมานานกว่า 30 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เข้ารับรางวัลทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน-เครื่องทอง (แหวนกล) ประจำปี 2561 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ
"ผมเรียนจบแค่มัธยมศึกษา ปีที่ 1 ครับ ทุกวันนี้ผมอยู่ได้เลี้ยงตัวเองได้ ด้วยมรดกภูมิปัญญาของบรรพชน ผมเริ่มฝึกเริ่มหัดลงมือทำแหวนกลตั้งแต่อายุแค่ 12 ปี กับลุงสายัณห์ (สายัณห์ ภูมิภักดิ์) ในหมู่ญาติ ๆ ไม่มีใครทำแหวนกล ต่างมุ่งไปสู่อาชีพอื่น มีผมคนเดียวที่สืบต่อวิธีการทำแหวนกลจากคุณลุง"
ช่างหรีดเล่าถึงความแตกต่างของแหวนกลกับแหวนทั่วไปว่า แหวนฉลุลายทั้งวงที่เห็นตามร้านทองทั่วไปนั้น มักจะเป็นแหวนที่ปั๊มมาจากเครื่อง ลวดลายจึงไม่ละเอียด จะดูแข็ง ซึ่งต่างจากแหวนกลที่จะฉลุลายด้วยมือ จึงมีลายที่ละเอียดคมชัด และดูนุ่มนวลกว่า การทำดีไซน์แหวนใหม่แต่ละครั้งนั้น ช่างหรีดบอกว่าจะต้องลองทำ 2-3 วงก่อน จนกว่าผลงานจะออกมาดี จึงจะสามารถส่งให้ลูกค้าได้
ด้วยความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแหวนกลของบ้านแหวนกลเมืองจันทบุรีที่เป็นภูมิปัญญามาแต่บรรพบุรุษของจังหวัดจันทบุรี และถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญ ทำให้ ช่างหรีด ชูเกียรติ เนียมทอง ได้รับคัดเลือกจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ให้รับรางวัลทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน-เครื่องทอง (แหวนกล) ประจำปี 2561 ในฐานะเป็นบุคคลผู้มุ่งมั่นและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ครูอาจารย์หรือช่างฝีมือผู้อยู่ในวงการงานหัตถศิลป์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมผู้พัฒนางานด้วยความรู้ความสามารถให้ชำนาญ จนเป็นที่ประจักษ์อยู่ได้เลี้ยงชีวิตอย่างมีความสุข
"ผมได้กำลังใจที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นคุณค่า และไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะให้ความสำคัญมากขนาดนี้ ดีใจมากครับ ผมจะมุ่งมั่นสืบสานและพัฒนางานไม่ให้เป็นแค่ของดีเมืองจันท์ แต่จะทำให้เป็นเครื่องประดับนี้อยู่คู่คนไทยให้ดียิ่งขึ้น งานที่จะต่อยอดต่อจากนี้ไป คิดไว้ว่าจะออกแบบแหวนกลเป็นลายกล้วยไม้ครับ และกำลังพัฒนาทักษะของตัวเอง อยากรู้ว่าแหวนกลของผมจะทำได้มากที่สุดกี่ก้าน ส่วนเรื่องการถ่ายทอดนั้น ผมคิดว่าประตูบ้านแหวนกลเมืองจันท์เปิดไว้เสมอสำหรับทุกคน ขอให้มาจริงๆ เรียนจริงๆ ผมพร้อมแบ่งปันครับ" ช่างหรีด - ชูเกียรติ เนียมทอง กล่าว
ด้าน นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หัวเรือใหญ่แห่งวงการงานศิลปหัตถกรรมของไทยกล่าวว่า เพื่อส่งเสริมคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทยในภาพรวม เพราะจากการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า งานศิลปหัตถกรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหรืองานหัตถกรรมชุมชน ที่ใช้ทักษะฝีมือจากช่างพื้นบ้าน ผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นของใช้สอยทั่วไป เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ เครื่องปั้นดินเผา และงานศิลปหัตถกรรมที่ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ที่ผู้ซื้อนิยมซื้อเพื่อสะสม หรือ เป็นการซื้อเพื่อการลงทุนที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต
งานศิลปหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยม แต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านรูปแบบ ประโยชน์การใช้สอย วัตถุดิบ และการสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของช่างผู้ผลิต
สิ่งสำคัญในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต คือ การสร้างการ มีส่วนร่วมในงานศิลปหัตถกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต ให้ผู้บริโภคมองเห็นว่า งานศิลปหัตถกรรมเป็นเรื่องสนุก มีเสน่ห์ และเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง การที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน จะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งของ วัตถุ แต่เป็นชิ้นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางใจทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ผลิต
นางอัมพวัน พิชาลัย กล่าวเสริมว่า SACICT มีความคาดหวังว่าทายาทช่างศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการเชิดชูจาก SACICT จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงการพัฒนาชิ้นงานให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และมีกำลังใจในการสืบสานมรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อไป
"ช่างหัตถศิลป์ คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทย และประวัติศาสตร์ ผ่านรูปแบบ สีสัน ลวดลายต่างๆ เฉพาะถิ่น SACICT เองก็ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่า อนุรักษ์ พัฒนา ต่อยอด เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน (Today Life's Crafts) จึงถือเป็นการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ไทยอย่างยั่งยืน" นางอัมพวันฯ กล่าว