กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
วันที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร พร้อมด้วย นายวรวุฒิ วิบูลย์ศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แถลงข่าวจับกุมสินค้าไม้หวงห้ามลักลอบส่งออก ประเภท ไม้ประดู่แปรรูป ไม้ประดู่ท่อน ไม้ชิงชันแปรรูป และไม้พะยูงแปรรูป บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ฯ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และจับกุมสินค้าผ่านแดนไป สปป.ลาว ที่ตรวจพบเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ วัตถุลามก บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท
ตามที่กรมศุลกากรได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขจัดอิทธิพลกลุ่มขบวนการลักลอบค้าของเถื่อนที่อาจมีการลักลอบนำสินค้าภายในประเทศซึ่งต้องขออนุญาตจากหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสินค้าผ่านแดนที่ไม่ปฏิบัติกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้นายชัยยุทธ คำคุณ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร มอบหมายให้ นายวรวุฒิ วิบูลย์ศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม และนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปราม
ต่อมา เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักสืบสวนและปราบปราม นำโดย นายณัฐวุฒิ สระฏัน ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 1 และนายสุรัตน์ เรืองประยูร หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปรามที่ 3 ได้ให้เจ้าหน้าที่ เข้มงวดในการตรวจสอบใบขนสินค้านำเข้าส่งออก และใบขนสินค้าผ่านแดน เป็นพิเศษ จึงพบสิ่งผิดปกติและมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ประสานงานกับฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมทำการตรวจสอบรายละเอียดดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้จับกุมไม้หวงห้ามลักลอบส่งออก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสินค้าของขบวนการลักลอบส่งออกไม้หวงห้ามประเภท ไม้พะยูง ไม้ชิงชันและไม้ประดู่ จำนวน 6 ใบขนฯ รวม 6 ตู้ฯ เลขที่ใบขนฯ A009-16102-06070, A014-16102-02691, A009-16102-07476, A016-16102-02382, A028-16102-16270 และ A028-16102-17473 สำแดงชนิดสินค้าเป็นสับปะรดในน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง มะม่วงชิ้นในน้ำเชื่อม เมทัลซีส และ แป้งข้าวเจ้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าตู้ฯ สินค้าดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกันกับขบวนการลักลอบส่งออกไม้หวงห้ามที่กรมศุลกากรจับกุมที่ท่าเรือกรุงเทพเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขบวนการฯ นี้จะมีพฤติการณ์ใช้วิธีการปลอมแปลงเอกสารของผู้ส่งออกรายอื่นๆ ที่เป็นผู้ส่งออกกลุ่มผลไม้กระป๋องหรือสินค้าอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มสินค้านอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยงที่มีการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์ (X-Ray) หรือเจ้าหน้าที่ฯ (สถานะการสั่งตรวจจะเป็น "ยกเว้นการตรวจ") ก่อนนำตู้ฯ โหลดขึ้นเรือเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากรพบว่า ทั้ง 6 ตู้ฯ เป็นไม้แปรรูปและไม้ท่อนบรรจุอยู่ทั้งหมด จึงประสานให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ร่วมตรวจสอบชนิดของไม้ พบเป็น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน และไม้พะยูง จำนวนประมาณ 1,884 แผ่น/เหลี่ยม/ท่อน มูลค่าสินค้ารวมประมาณ 19 ล้านบาท และหากส่งถึงปลายทางจะมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านบาท โดยไม้ที่ทำการตรวจยึดได้ในครั้งนี้จัดเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6,7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 กรณีดังกล่าว ผู้ส่งออกสำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นเท็จ จึงเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ ส่งออกสินค้าโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2555 ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และมาตรา 48, 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
2. เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้จับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าต้องห้ามผ่านแดน เลขที่ใบขนฯ 2801 2601280603 จำนวน 1 ตู้ฯ ซึ่งทำพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ สำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นของใช้ในครัวเรือนใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบว่า ตู้สินค้าดังกล่าวเป็นตู้สินค้าที่มีแหล่งที่มาเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันกับตู้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทางกรมศุลกากรจับกุมได้เป็นจำนวนมากที่ท่าเรือกรุงเทพก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดตู้สินค้าดังกล่าวและดำเนินการขอเปิดตู้ฯ ตรวจสอบร่วมกันกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจากการตรวจสอบพบ สินค้าไม่ตรงสำแดง ประเภท รองเท้า ชุดสตรี นาฬิกาข้อมือ เครื่องสำอาง อะไหล่รถ เป็นต้น ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ได้แก่ HELLO KITTY, MY MELODY, CINNAMOROLL, MARVEL, STITCH, DORAEMON, PLANE/CARS, FROZEN, RILAKKUMA, PAUL PRANK, BATMAN, MICKEY MOUSE, ADIDAS, LOUIS VUITTON, MAC, KRYOLAN, RADO, GUCCI, BABY-G, CASIO, BOSCH, NGK, DENSO, TOYOTA, HITACHI, BREMBO, CANNON, NIKON, OHLINS, CALVIN KLEIN จำนวนรวมกว่า 130,000 ชิ้น กรณีนี้มีความผิดฐาน
ส่งของผ่านแดน ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 105 มาตรา 106 มาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักรและยังตรวจพบ "วัตถุลามก อวัยวะเพศชายเทียมทำด้วยยางซิลิโคลน" กรณีนี้มีความผิดฐาน นำสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร นำสินค้าที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนำผ่านราชอาณาจักร และมิได้สำแดงรายการสินค้าในใบขนสินค้าผ่านแดน โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น
ซึ่งเป็นสินค้าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนำผ่านราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 105 มาตรา 106 มาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
อีกทั้งตรวจพบ "บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบ และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 105 มาตรา 106 มาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักรรวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท
การปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมสินค้าลักลอบหลีกเลี่ยงตามพระราชบัญญัติศุลกากร มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นตามนโยบายของกรมศุลกากร เพื่อเป็นการขจัดอิทธิพลและการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มขบวนการค้าของเถื่อน ซึ่งของกลางในครั้งนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 240 ล้านบาท