กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม จะจัดการแสดงคอนเสิร์ต “ Harp Studies II ” ในวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนวิชาเอกฮาร์พเป็นครั้งแรกในปี 2549 นับเป็นหลักสูตรแรกในประเทศ และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้บรรจุวิชาดนตรีฮาร์พไว้ในการเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัย ในการนี้ สาขาวิชาได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม จึงอยากจะเผยแพร่การแสดงดนตรีฮาร์พให้ผู้ที่สนใจเข้าฟัง
รายการแสดงที่น่าสนใจและชวนติดตามสำหรับ “Harp Studies II” ครั้งนี้ เป็นบทเพลงที่คัดมาแสดงมีทั้งเพลงคลาสสิก เพลงพระราชนิพนธ์ และบทเพลงทันสมัยที่น่าสนใจ ผู้แสดงประกอบด้วยอาจารย์ นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ นักเรียนจากศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม สมาชิกนักดนตรีเครื่องสายเยาวชน วงดุริยางค์เยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และศิลปินนักดนตรีเยาวชนทวีเวท ศรีณรงค์ —นักไวโอลิน ฝีมือชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ทวีเวทกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ มหาวิทยาลัย Stony Brook นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จะบินกลับมาเพื่อคอนเสิร์ตครั้งนี้ ร่วมบรรเลงพร้อมน้องสาวทั้งสอง พินทุสร ศรีณรงค์—ไวโอลิน หัวหน้าวงดุริยางค์เยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ฯ และอุทัยศรี ศรีณรงค์ -นักเชลโล่อิสระ
ในรายการจะขอแนะนำวงดนตรีที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกของคอนเสิร์ตนี้ วงแรกเป็นวงฮาร์พเยาวชนของศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม โดยทวีเวท ศรีณรงค์ จะเดี่ยวไวโอลินร่วมกับวงฮาร์พเยาวชน ในบทเพลงที่เรียบเรียงสำหรับไวโอลินและวงฮาร์พ Ave Maria ของ J.S.Bach/ Gounod และจะร่วมกับน้องสาว พินทุสร ศรีณรงค์ ในบทเพลงของ J.S Bach อีกเช่นกันในเพลง Double Concert in D minor, BWV 1043 สำหรับสองไวโอลิน กับวงเครื่องสายดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ และทวีเวทจะบรรเลงเดี่ยวไวโอลินพร้อมฮาร์พ ในบท Sonate ของ L.Spohr, Meditation จากอุปรากร Thais ของ J.Massenet , Rachmaninoff’s Vocalise Czardasของ V.Monti นอกจากนี้ได้พบกับนักฮาร์พรุ่นใหม่ ที่ฝีมือผ่านการแข่งขันฮาร์พนานาชาติที่เวลส์ เมื่อปีที่แล้ว ตรรกมล ดวงสวัสดิ์ และ อุกฤษ พวงเรือนแก้ว จะมาในบทเพลงบรรเลงฮาร์พคู่ใน พม่ากลองยาว ค้างคาวกินกล้วย บทเพลงฮาร์พเดี่ยวในเพลง the Minstrel’s Adieu to his Native Land ของ John Thomas, Bolero ของDavid Watkins อีกทั้งพร้อมด้วยนักฮาร์พของศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในบทเพลงฮาร์พสมัยใหม่ Chanson dans la Nuit ของ C.Salzedo และอุทัยศรี ศรีณรงค์จะบรรเลงเชลโล่ร่วมในเพลง Trio สำหรับไวโอลิน เชลโล่ และฮาร์พ ของ J.L. Dussek และในท้ายรายการจะพบกับการบรรเลงของนักฮาร์พประจำศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมในบทเพลง Cambria ที่มีชื่อเสียงของ John Thomas และบทเพลงพระราชนิพนธ์ A Love Story จาก Kinari Suite บรรเลงโดยวงฮาร์พของศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมร่วมกับวง Srinarong String Quartet
การแสดงครั้งนี้เปิดให้เข้าชมฟรี ติดต่อขอรับบัตรและขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ โทร. 02 252-7899 ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม โทร. 02 261-4777-8 และThe Harp Shop โทร.02 261 6769