ไทยพาณิชย์ – ดิจิทัล เวนเจอร์ส จัดงาน Faster Future Forum 2018 เปิดมุมมองสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีทางการเงิน ดึงพาร์ทเนอร์ระดับโลก ชู Blockchain Solution

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 12, 2018 18:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารฯ จัดงานสัมมนา 'Faster Future Forum 2018' ปีที่สอง ภายใต้หัวข้อ UNLOCK BLOCKCHAIN: The World DISRUPTIVE Technology นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบล็อกเชน เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะ มาเปลี่ยนโลกในทุกแง่มุม ตั้งแต่ภาพรวมของเทคโนโลยี แอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในยุคปฏิวัติดิจิทัล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ลูกค้าองค์กรของธนาคารในธุรกิจต่าง ๆ ตัวแทนหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงฟินเทค และสื่อมวลชน มาร่วมรับฟังกว่า 600 คน นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่า "ธนาคารไทยพาณิชย์ ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นอย่างมาก และเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในแทบทุกอุตสาหกรรม ในฐานะที่ภาคการเงิน ถือเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ได้ศึกษาและนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดต่อทั้งธนาคารและลูกค้า การจัดงานสัมมนา 'Faster Future Forum2018' จึงสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของไทยพาณิชย์ที่จะเป็นผู้นำในการมอบ 'Blockchain Solution' เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและ know how เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ" พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานทุนองค์กร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า "งานสัมมนา 'Faster Future Forum 2018' ครั้งนี้มุ่งให้ความรู้และแง่คิดต่าง ๆ เกี่ยวกับบล็อกเชนในภาพที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้จะปฏิวัติเพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น แต่สามารถปฏิวัติโลกธุรกิจทั้งหมด พร้อมนำเสนอกรณีศึกษาจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก" งานสัมมนา 'Faster Future Forum 2018' มีไฮไลต์สำคัญต่อไปนี้ - บรรยายพิเศษในหัวข้อ "Blockchain Changes the World" โดยพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงาน Corporate Venture Capital บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด - สนทนาพิเศษกับ Brad Garlinghouse ประธานกรรมการบริหาร Ripple ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ภาพรวมของ Blockchain การนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ และบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน - เสวนาหัวข้อ "Unlock Blockchain to Endless Possibilities" กับวิทยากรรับเชิญ ประกอบด้วย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Val Jihsuan Yap ผู้ก่อตั้ง PolicyPal สตาร์ทอัพด้าน InsurTech และได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งใน 30 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี (Forbes 30 Under 30 Entrepreneurs Asia 2017) David Davies ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร AgUnity ผู้พัฒนาระบบ Blockchain เพื่อการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา "เรามุ่งหวังว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับบล็อกเชนและสามารถเล็งเห็นถึงจุดเชื่อมโยงไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะกลายเป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงรูปแบบและสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้บริการของผู้บริโภคในยุคนี้ ในฐานะตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีมูลค่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ นอกเหนือจากบริการด้านการเงิน" นายพลภัทรกล่าวเสริม งานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของดิจิทัล เวนเจอร์สที่ได้ไปสร้างรากฐานและเครือข่ายธุรกิจในระบบนิเวศด้านฟินเทคในต่างประเทศ ทั้งเครือข่ายในด้านการลงทุน และเทคโนโลยี และเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะได้นำความรู้เหล่านี้กลับมาส่งต่อให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนลูกค้าองค์กรของธนาคารในภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัว และพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเงินของไทย เกี่ยวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการบ่มเพาะ สนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทย เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนในFinancial Technology จำนวน 1,750 ล้านบาทหรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อมูลเพิ่มเติม www.dv.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ