กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--IR network
"สมพล ธนาดำรงศักดิ์" บิ๊กบอส FPI มั่นใจผลงานปี 61 โตก้าวกระโดด อานิสงส์ ออเดอร์ไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย- รับรู้รายได้โรงไฟฟ้าเข้ามาเต็มปี ด้านบอร์ดไฟเขียว จ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.04บาท/หุ้น ผู้ถือหุ้นเตรียมรับเงินเข้ากระเป๋าวันที่ 25 พ.ค. นี้
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาในปีนี้ 2560 (มกราคม-ธันวาคม 2560) บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 2,051.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 204.23 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานอ่อนตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2561 ค่าเงินบาท ไม่น่าจะแข็งค่ามากเท่ากับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯมีมติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.04 บาท/หุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD และ XM วันที่ 14 มี.ค. 61 กำหนดจ่ายในวันที่ 25 พ.ค. 61 นี้
"แนวโน้มผลงานในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยได้รับปัจจัยหนุนจากออเดอร์สินค้าสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อชิ้นส่วนของรถยนต์มาสด้า จากออสเตรเลีย ที่เริ่มส่งมอบในปีนี้ ขณะเดียวกันในปีนี้ FPI จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ในจ.นราธิวาส เข้ามาเต็มปี หลังจากเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปลายเดือนมิ.ย.2560 ที่ผ่านมา" นายสมพลกล่าว
ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดีย ของ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 45% นั้น ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว ก็จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในปีนี้ รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในอ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Gasification) จะเริ่มCOD ต้นเดือน เม.ย.61 มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) สูงถึง 36-38% มากกว่า IRR จากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไปที่อยู่ระดับ 17-18%
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า แนวโน้มตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดโลก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เช่น ในออสเตรเลียและยุโรปที่มีมาร์จิ้นสูง โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโอกาสของคนไทยจะที่ผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะไทยได้มีการเซ็นสัญญา FTA ระหว่างกัน ส่วนค่ายยุโรปก็มองหาฐานผลิตในไทย, ไต้หวัน ,จีน ส่วนตลาดเอเชียตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ตลาดแอฟริกายังคงแย่ต่อเนื่องจากภาวะสงคราม และค่าเงิน ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลง ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีตลาดส่งออกหลักใน ซาอุดิอาระเบีย ,อังกฤษ และปีนี้จะส่งออกไปยังออสเตรเลียมากขึ้น หลังได้คำสั่งซื้อใหม่เข้ามา โดยปัจจุบันมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบต่อไป