กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
“แอกโกร-ออน” ปั้น “ไวน์วิเศษ” บุกตลาดน้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติ เมินใช้ของต่างชาติ จับมือ iTAP สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีและหัวเชื้อน้ำส้ม จนเป็นผลสำเร็จ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดค่าพลังงานและอัตราเสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างเห็นผล ด้านบุคลากรได้เพิ่มพูนทักษะความรู้ อีกทั้งสามารถเพิ่มการผลิตถึง 70% วาดอนาคตสดใสหากยอดขายเพิ่มพร้อมขยายฐานการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีฝีมือคนไทย เล็งแผนต่อไปเปลี่ยนจากน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อนมาเป็นผลไม้ เพื่อกลิ่นที่หอมหวานน่ากินยิ่งขึ้น
บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำส้มสายชูบรรจุขวด ที่มียอดการส่งออกต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งวัตถุดิบหลักคือ ข้าวโพดฝักอ่อนที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ และน้ำส้มสายชูที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เหตุผลที่ต้องนำน้ำส้มสายชูเข้ามาจากต่างประเทศเนื่องจากกำลังการผลิตจากโรงงานภายในประเทศไม่สามารถตอบสนองกับยอดการสั่งซื้อของโรงงานได้ ตลอดจนคุณภาพ เช่น สี กลิ่น และรสชาติ ยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทฯ จึงต้องการสร้างระบบการผลิตน้ำส้มสายชูต้นแบบที่มีสายการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous Line) โดยพัฒนาระบบและใช้เทคโนโลยีภายในประเทศ จึงได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้กำกับของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพของน้ำส้มสายชูให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ และนำไปสู่การสร้างโรงงานเพื่อผลิตน้ำส้มสายชูแบบสายการผลิตต่อเนื่อง กระทั่งโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จึงเกิดแนวคิดใหม่ที่จะพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมักเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มสายชูจากต่างชาติ จึงขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ไวน์วิเศษ จำกัด
นายประภาส ปิ่นวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวน์วิเศษ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ไวน์วิเศษ ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำส้มสายชูหมักเพื่อป้อนให้กับบริษัทแอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด โดยได้เข้าร่วมขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมักเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มสายชูจากต่างชาติ” โดยมี รศ.ดร.วราวุฒิ ครูส่ง ผู้เชี่ยวชาญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาโครงการ
โดยเบื้องต้นทีมผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำปรึกษาในการวางสายการผลิตไวน์น้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อนและสายการผลิตน้ำส้มสายชูหมัก รวมไปถึงการพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชู Acetobacter aceti สป 5 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหมักให้ได้ปริมาณน้ำส้มสายชูสูงขึ้นจากเชื้อ A.aceti สป 5 ในระดับหลอดทดลองโดยอาศัย Spontaneous Mutation การพัฒนาการหมักน้ำส้มสายชูในถังหมักแบบ CSTR (Continuous Stirred Tank Reactor) เพื่อรองรับการหมักน้ำส้มสายชูในถังหมัก FRINGS Acetator และการพัฒนาการหมักน้ำส้มสายชูด้วยเชื้อร่วมระหว่างหัวเชื้อ A.aceti สป 5 และหัวเชื้อของ FRINGS ทำการหมักในถังหมัก CSTR ขนาด 100 ลิตร
“ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นที่น่าพอใจอย่างมากเกิดการพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมัก A.aceti สป 5 ให้มีความเป็นไปได้ในการหมักน้ำส้มสายชูกับระบบ FRINGS Acetator อีกทั้งเกิดสายการผลิตน้ำส้มสายชูหมัก ซึ่งประกอบด้วย สายการหมักไวน์ และสายการหมักน้ำส้มสายชู นอกจากนี้ในด้านบุคลากรยังเกิดทักษะและมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทเองสามารถลดต้นทุนการผลิตอย่างเห็นได้ชัด มีผลกำไรเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งค่าพลังงาน และอัตราเสี่ยงต่อการสูญเสียก็ลดลงไปด้วย”
กรรมการผู้จัดการกล่าวอย่างพึงพอใจว่า ปัจจุบันบริษัทฯ สามารถผลิตน้ำส้มสายชูได้ถึงวันละ 1,600 ลิตร ยอดจำหน่าย 90 เปอร์เซ็นต์ส่งให้กับบริษัทแอกโกร-ออน ส่วนที่เหลือขายให้กับบริษัทอีก 2-3 ราย ขณะนี้เรามียอดขายอยู่ที่ประมาณ 30,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งถ้ามียอดสั่งซื้อเข้ามามากเราก็มีกำลังการผลิตที่เพียงพอหรือทำเก็บสต็อกไว้ได้ และในอนาคตอาจมีการลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิต โดยจะพัฒนาตัวเครื่องเดิมที่ซื้อมาจากต่างประเทศ นำมาพัฒนาใหม่ให้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงยิ่งขึ้นโดยฝีมือคนไทย จุดนี้จะช่วยลดต้นทุนไปได้มากจากราคาเครื่องละ 11 ล้านบาท เหลือเพียง 4 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจะได้พัฒนาถังจากขนาด 100 ลิตร ให้เป็น 600 ลิตรและถ้าสำเร็จก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนจากน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อนมาเป็นผลไม้ต่างๆ เช่น มะม่วงสุก ลิ้นจี่ ลำไย และผลไม้ทุกชนิดที่มีน้ำตาลสูง จะได้กลิ่นผลไม้ที่หอมหวานชวนรับประทานยิ่งขึ้น ตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของเราเพราะน้ำส้มสายชูหมักของเรานั้นได้มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผ่านกระบวนการหมักตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทนั้นจะเน้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปที่รู้จักมักคุ้นกัน ไม่เน้นการแข่งขันหรือทำตลาดมากนักเนื่องจากส่วนใหญ่เราผลิตไว้ใช้เองเพื่อส่งให้กับบริษัทในเครือ แต่ที่เรามองก็คือส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า ตลาดใหญ่ของเราคือประเทศเยอรมัน และกลุ่มประเทศอียู รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เป็นต้น ล่าสุดที่มองไว้คือฟิลิปปินส์ซึ่งนิยมบริโภคน้ำส้มสายชูอย่างมาก ถ้าสามารถบุกตลาดที่นี่ได้ก็จะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล นายประภาส กล่าวในที่สุด