กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ 'A- (tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F2 (tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ 'A-(tha)' อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในระดับปานกลางหลังเข้าลงทุนในโครงการพาราไซลีน (PX)
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสามารถในการลงทุนโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินฯ ของ IRPC จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำในปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำนินงานที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่คำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ปรับตัวดีขึ้นมาอยูที่ 2.8 เท่าในปี 2560 (2559: 3.6 เท่า) ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความสามารถรองรับการลงทุนเพิ่มเติมและรองรับการปรับตัวลดลงของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ
การลงทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น: การลงทุนของ IRPC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากแผนเดิม โดยฟิทช์คาดว่าบริษัทฯจะดำเนินการลงทุนในโครงการพาราไซลีน (PX) หลังจากบริษัทศึกษาการลงทุนเสร็จสิ้น โครงการ PX จะทำการเปลี่ยน แนฟทา, โทลูอีนและไซลีน ไปเป็น พาราไซลีน เบนซิน และผลิตภัณฑ์อื่น โดยบริษัทฯประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1-1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฟิทช์คาดว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ของโครงการจะอยู่ในช่วงปี 2562-2565 ดังนั้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณ 3.5 – 4.0 เท่าในปี 2563-2565 (2560 : 2.8 เท่า)
สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการปรับตัวที่ดีขึ้นของส่วนต่างกำไรของ IRPC จะมีเสถียรภาพและมีความผันผวนลดลงเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและการกลั่นน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจากการขยายความสามารถของโรงกลั่น การดำเนินการของ 2 โครงการสำคัญ ได้แก่โครงการ upstream project for hygiene and value-added products (UHV) ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนผลผลิตของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมี และ โครงการ polypropylene expansion and polypropylene inline compound project ในช่วงปี 2559-2560 ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่นน้ำมันดิบนั้น จะผลักดันทั้งรายได้และการเติบโตของอัตราส่วนกำไร นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าโครงการ PX จะเพิ่มอัตราส่วนกำไรหลังโครงการเสร็จสิ้นในปี 2566
IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันในฐานะผู้ผลิตในทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจรที่มีความชำนาญและมีประวัติอันยาวนานในธุรกิจปิโตรเคมีของประเทศไทย การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำส่งผลให้บริษัทมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความผันผวนของรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร
ความผันผวนของธุรกิจ: อันดับเครดิตของ IRPC ยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน รายได้ค่าการกลั่น ตลอดจนส่วนต่างระหว่างราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการทำกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ
การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯนั้น จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับ IRPC นอกเหนือจากช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ ซึ่งเทอมการค้าฯ 60 วัน จากปตท. ได้มีการขยายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปีจนถึงสิ้นปี 2561 ก่อนจะกลับสู่เทอมปกติที่ 30 วัน โดยทั้งสองบริษัทจะทำการทบทวนข้อตกลงต่างๆในเทอมการค้านี้เป็นรายปี และสามารถต่ออายุได้โดยตกลงร่วมกันซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับบริษัทในการบริหารอัตราส่วนหนี้สินฯและสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ
ความเชื่อมโยงกับปตท: อันดับเครดิตภายในระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิต จากความเชื่อมโยงในระดับปานกลางกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่บริษัท ปตท. ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage IRPC อยู่ภายใต้กรอบการบริหารการเงินส่วนกลางของปตท. ในขณะที่กลุ่มผู้บริหารหลักจากปตท. จะถูกหมุนเวียนในกลุ่ม บริษัทย่อยของปตท. รวมถึง IRPC ด้วย นอกจากนี้ปตท. ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการค้าให้แก่ IRPC ในด้านต่างๆ เช่นการให้สินเชื่อสำหรับน้ำมันดิบ แม้ว่าปตท. จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน IRPC เป็นร้อยละ 48.1 จากร้อยละ 38.5 แต่การเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมโยงของ IRPC กับปตท.
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ IRPC สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย อย่างไรก็ตามสถานะทางธุรกิจของ IRPC ยังอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่ IRPC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว IRPC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ((AA) (tha) / แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/F1+(tha),สถานะทางเครดิตโดยลำพัง AA- (tha)) และ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ((AA- (tha) / แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ F1+(tha), สถานะทางเครดิตโดยลำพัง A+(tha)) และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (F1 (tha) สำหรับตั๋วแลกเงิน) IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ฟิทช์มองว่า ESSO มีความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ที่มากกว่ามาก
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 52.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561, 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562 และ 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPC
- Gross integrated margins ที่ลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 เป็นต้นไป
- จำนวนเงินลงทุนในโครงการ PX มูลค่า 1 - 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2562-2565
- สินเชื่อระยะเวลา 60 วันจากปตท. ขยายไปในปี 2561 และจะลดลงเหลือ 30 วันในปี 2562
- อัตราการจ่ายเงินปันผล 50%
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ความสามารถในการรักษาอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- ความมีวินัยในการใช้เงินลงทุนและการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับลดอัตราส่วนหนี้สินให้ดีขึ้น
- ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนที่ใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูง อันเป็นผลให้อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage สูงกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: IRPC มีหนี้สินคงค้าง ณ สิ้นปี 2560 จำนวน 58.8 พันล้านบาท โดยจำนวน 13.6 พันล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนซึ่งประกอบด้วย หุ้นกู้มูลค่า 5.0 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปีจำนวน 5.5 พันล้านบาท และ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 3 พันล้านบาท สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 2.1 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่า 5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 วงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จาก ปตท. จำนวน 10 พันล้านบาทรวมถึงเทอมการค้าสำหรับ การชำระค่าวัตถุดิบที่สามารถขยายได้จาก ปตท.