เส้นด้ายไทยแข่งขันได้ในตลาดโลกและอาเซียน

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมเส้นด้ายของไทย ว่า เส้นด้ายใยประดิษฐ์และเส้นด้ายฝ้ายของไทยในตลาดโลก เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการแข่งขัน มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจากการส่งออกอยู่ในระดับดี และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่มีคู่แข่งสำคัญ คือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีความได้เปรียบในการส่งออกสูงกว่าไทย รวมทั้งมีอัตราเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าไทย ในขณะที่เส้นด้ายฝ้าย มีคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียและจีน ซึ่งมีความได้เปรียบในการส่งออกและมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าไทย
สำหรับในตลาดอาเซียน สินค้าทั้ง 2 ชนิดของไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถส่งออกได้ในตลาดอาเซียน แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงบ้างในปี 2549 ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตาม สมาคมสิ่งทอฯ ให้ความเห็นว่า เส้นด้ายไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงพอที่จะแข่งในอาเซียน โดยเฉพาะเส้นด้ายใยประดิษฐ์ ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ส่วนเส้นด้ายฝ้ายต้องนำเข้าใยฝ้าย (ส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย) เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผู้ผลิตในอาเซียนทุกประเทศต้องนำเข้าใยฝ้ายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเช่นกัน และการนำเข้าวัตถุดิบในช่วงเงินบาทแข็งค่าน่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตไทย
ทั้งนี้สินค้าเส้นด้าย เป็นสินค้าที่อยู่ในกรอบความตกลงการค้าเสรีที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้ว อย่างเช่นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย (82 รายการ) และอาเซียน-จีน ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้ โดยแต่ละกรอบความตกลงมีการลดภาษีเส้นด้ายที่แตกต่างกัน คือ ไทย-ออสเตรเลีย เส้นด้ายใยประดิษฐ์และเส้นด้ายฝ้ายไทยลดภาษีให้ออสเตรเลียเป็น 0 ในปี 2550 แต่ออสเตรเลียลดให้ไทยในปี 2551 ไทย-นิวซีแลนด์ เส้นด้ายใยประดิษฐ์ไทยและนิวซีแลนด์ลดภาษีให้กันเป็น 0 ในปี 2558 ส่วนเส้นด้ายฝ้ายลดเป็น 0 ทันที ไทย-อินเดีย เส้นด้ายยังไม่จัดอยู่ในส่วนที่เร่งลดภาษี 82 รายการ อาเซียน-จีน ทั้งเส้นด้ายใยประดิษฐ์และเส้นด้ายฝ้าย ไทยลดเป็น 0 ในปี 2553 จีนลดเป็น 0 ในปี 2551 ส่วนไทย-ญี่ปุ่น ลดภาษีระหว่างกันเป็น 0 ทันทีสำหรับเส้นด้ายทั้งสองชนิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ