กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--social Change Thailand
องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จับมือภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงหอบตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่สะท้อนเสียงผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะและ "คู่มือเผือก" ให้รมว.คมนาคม ชูคู่มือเป็นต้นแบบใช้อบรมพนักงานขนส่งสาธารณะรับมือเหตุคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ หวัง ป้องกัน-แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมอาสาอบรมให้ ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดบนระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อ ได้ประโยชน์ เป็นหลักฐานให้เหยื่อที่ถูกคุกคามเอาผิดและทำให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีได้ ขณะที่ รมว.คมนาคมรับลูกพร้อมประสานความร่วมมือร่วมกับเครือข่ายในทุกประเด็น
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) นำโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมมอบ "คู่มือเผือก" ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ และตุ๊กตาเปเปอร์เมเช่"พลังเผือก"สัญลักษณ์ของผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ ต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2560 ภายใต้แคมเปญ "ถึงเวลาเผือก" โดยมีประชาชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็นและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศและการสร้างเมืองที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับผู้หญิงอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ด้วยการให้กระทรวงคมนาคมป้องกันและหยุดปัญหาการคุกคามที่เกิดขึ้น
น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เนื่องจากเดือนมีนาคมนี้ถูกจัดให้เป็นวันสตรีสากล จึงเป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายฯ เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบคู่มือเผือกให้ ซึ่งเครือข่ายฯมีความยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการลดปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ การจัดอบรมพนักงานผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะให้เข้าใจและตระหนักถึงสภาพปัญหา และมีทักษะที่จะช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งถือเป็นมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ควรถูกมองข้าม เพื่อช่วยลดปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องและได้ผลต่อไป
"หลังจากเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในวันนี้แล้ว ทางเครือข่ายฯ จะเดินสายขอเข้าพบผู้บริหารของหน่วยงานที่ให้บริการขนส่งสาธารณะหลัก ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นข้อเสนอชุดเดียวกันนี้ให้ถึงมือผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ โดยเครือข่ายฯ ยินดีที่จะพัฒนารายละเอียดเนื้อหาและจัดอบรมพนักงานสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการขนส่งสาธารณะของแต่หน่วยงาน และมีแนวคิดที่จะพัฒนาคู่มือดังกล่าวเป็นระบบ e-learning ให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ด้วย" น.ส.วราภรณ์ กล่าว
ด้านน.ส. รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือ นโยบายที่ชัดเจนในเรื่องของการป้องกัน หรือไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ บนรถสาธารณะทั้งหมดภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการหลายๆอย่างออกมา โดยที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้เสนอให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพราะอย่างน้อยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมอนิเตอร์ ตรวจสอบดูแลว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมีกรณีที่เหยื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน ดังนั้นการติดตั้งกล้องวงจรปิดนี้จะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานได้ นอกจากนี้ พนักงานที่ทำงานประจำในระบบขนส่งสาธารณะก็มีความสำคัญ เพราะถ้ามีความเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ในเวลานั้น ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถลดการคุกคามทางเพศได้
"หลายๆคนที่เคยตกเป็นเป้าหมายของการถูกคุกคาม เขาจะไม่รายงานต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะเขามองว่ารายงานไปก็แค่นั้น ระบบกฎหมาย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหา หรือการรับเรื่องร้องเรียน ดังนั้นเมื่อแจ้งไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และเกิดการทำผิดซ้ำๆ เพราะเขารู้สึกว่าใครก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เหตุการณ์จึงวนไปอย่างนี้ ตราบใดไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ขณะเดียวกันผู้โดยสารรถสาธารณะทุกคนต้องช่วยกันเผือก ถ้าทุกคนช่วยกัน จะทำให้การคุกคามทางเพศลดลงได้"น.ส.รุ่งทิพย์กล่าว
ทั้งนี้สำหรับ "คู่มือเผือก :รู้ เข้าใจ ช่วยเหลือได้ เมื่อเกิดภัยคุกคามทางเพศ" มีเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจทุกเพศยอมรับว่าเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะถึงร้อยละ 35 โดยในจำนวนนี้เป็นเพศหญิงร้อยละ 45 ซึ่งพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่พบบ่อย 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1.ลวนลามด้วยสายตา ร้อยละ 18.8 อันดับ 2. แต๊ะอั๋ง ถูกเนื้อต้องตัว ลูบคลำ ร้อยละ 15.4 อันดับ 3. ผิดปากแซว ร้อยละ 13.9 อันดับ 4. พูดแซว พูดแทะโลม พูดเกี้ยวพาราสี ร้อยละ 13.1 อันดับ 5. พูดลามก เรื่องเพศ หรือ ด่าทอด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องเพศร้อยละ 11.7 ซึ่งประเภทของการขนส่งสาธารณะที่เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง ร้อยละ 50 รองลงมาคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 11.4 แท็กซี่ ร้อยละ 10.9 รถตู้ ร้อยละ 9.8 และรถไฟฟ้า ร้อยละ 9.6
ส่วนแนวทางการจัดการสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะนั้น หากพนักงานให้บริการพบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น ผู้โดยสารมีสีหน้าอึดอัด ไม่พอใจ หรือ แสดงท่าทีว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือ พบเห็นผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้โดยสารอื่น เช่น จ้องมองอย่างผิดปกติ ยืนเบียดชิดผู้โดยสารอื่นเกินความจำเป็น หรือ ใช้อุปกรณ์สื่อสารส่องไปยังบุคคลอื่น พนักงานควรมีวิธีการในการจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ เช่น การมองช้อนใต้กระโปรง อาจส่งเสียงเตือน ในลักษณะที่ไม่ระบุเจาะจงตัวผู้กระทำการคุกคามและเพื่อเตือนให้ผู้ถูกคุกคามระมัดระวังตัว หากยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานอาจเตือนด้วยเสียงอันดันขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกคุกคามเกิดความละอาย และหยุดพฤติกรรม
กรณีการจ้องมองโดยใช้อุปกรณ์บันทึกภาพ พนักงาน เข้าไปแจ้งผู้คุกคามว่าขอนำตัวไปตรวจค้น เนื่องจากต้องสงสัยว่ากระทำการคุกคามทางเพศต่อบุคคลอื่นในสาธารณะ และเข้าไปแจ้งให้ผู้ถูกคุกคามทราบเรื่อง เพื่อกันไว้เป็นพยานหรือเจ้าทุกข์ จากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่สามารถดำเนินการหรือจัดการเรื่องได้ในเบื้องต้น ซึ่งควรจะมีการบันทึกข้อมูลลักษณะของผู้กระทำไว้ด้วย เพื่อแจ้งตำรวจต่อไป
กรณีพูดแซว พูดจาแทะโลม หรือ การพูดส่อนัยยะเรื่องเพศ กรณีผู้คุกคามกระทำการเพียงคนเดียว พนักงานอาจจ้องหน้าผู้คุกคามให้รู้ตัวว่ามีคนเห็นเขากำลังทำพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ หากยังไม่หยุดพฤติกรรม เข้าไปพูดเตือนด้วยท่าทีสุภาพ และถ้าไม่หยุดอีกให้ส่งเสียงให้ผู้โดยสารคนอื่นได้รับรู้ แต่หากประเมินว่าการเข้าไปแทรกแซงอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ให้หาทางแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุด ในส่วนกรณีผู้คุกคามมาเป็นกลุ่ม และมีท่าทีคึกคะนอง พนักงานต้องประเมินสถานการณ์ และ เลือกวิธีการจัดการที่คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และหากเตือนแล้ว แต่กลุ่มผุ้คุกคามยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานควรแจ้งให้พนักงานขับรถหยุดรถ และเชิญผู้โดยสารกลุ่มนี้ลงจากรถ
กรณีตั้งใจเบียดชิด ต้อนเข้ามุม ให้พนักงานจ้องหน้าผู้คุกคามให้รู้ตัวว่ามีคนเห็นว่ากำลังทำพฤติกรรมที่ไม่สมควร ถ้าไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานอาจทำทีเข้าไปชวนผู้ถูกคุกคามพูดคุยเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจ และหากผู้คุกคามยังไม่ขยับหนี ให้พนักงานชวนให้ผู้ถูกคุกคามย้ายที่นั่งในกรณีที่นั่งอยู่ หรือ เอาตัวเข้าไปแทรก ขวางในกรณีที่ผู้ถูกคุกคามยืนอยู่
กรณีเปิดคลิปโป๊ หรือ สื่อลามกบนขนส่งสาธารณะ หากเป็นเหตุที่เกิดบนรถเมล์ พนักงาน อาจแจ้งเตือนให้หยุดพฤติกรรม โดยบอกเหตุผลว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ การดูสื่อดังกล่าวเป็นการรบกวนและสร้างความอึดอัดให้กับผู้โดยสารคนอื่นๆได้ หากยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานอาจพูดเตือนด้วยเสียงที่ดังขึ้น โดยให้ผู้โดยสารคนอื่นๆได้รับรู้ เพื่อให้เกิดความละอาย และหยุดพฤติกรรม หากยังไม่หยุด ให้แจ้งพนักงานขับรถเพื่อให้จอดและเชิญผู้กระทำลงจากรถ แต่หากเป็นเหตุที่เกิดขึ้นบนรถไฟฟ้า ให้พนักงานขับรถ ประกาศแจ้งเตือนเป็นระยะ และพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานี คอยเดินตรวจตราในแต่ละตู้โดยสารเท่าที่จะสามารถทำได้
กรณีกระทำการอนาจารบนขนส่งสาธารณะ เช่น โชว์อวัยวะเพศ เอาอวัยวะเพศตัวเองไปถูไถคนอื่น หรือ แอบช่วยตัวเอง ซึ่งเป็นกรณีการคุกคามทางเพศที่ค่อนข้างร้ายแรง หากพนักงานพบเห็นการกระทำดังกล่าว ควรใช้วิธีจัดการดังนี้ ให้เข้าไปบอกด้วยท่าทีสุภาพ เพื่อให้ผู้กระทำหยุดพฤติกรรม และ หากยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานควรเตือนด้วยเสียงที่ดังขึ้น เพื่อให้เกิดความละอาย และหยุดพฤติกรรม ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีการคุกคามทางเพศที่ค่อนข้างร้ายแรง พนักงานควรแจ้งให้พนักงานขับรถรับทราบ และหาทางแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งอาจเป็นตำรวจจราจรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนก็ได้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังจากรับหนังสือคู่มือเผือกจากภาคีเครือข่าย และได้ร่วมแกะมือของผู้คุกคามออกจากตุ๊กตาน้อง NOW ซึ่งเป็นตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ว่ากระทรวงคมนาคมยินดีรับข้อเสนอของทางเครือข่าย และสนับสนุนให้นำคู่มือเผือกไปปรับใช้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวง เพราะการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องดูแลอยู่แล้ว โดยขอให้เป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างทางเครือข่ายกับหน่วยงานที่ให้บริการขนส่งสาธารณะที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ถ้าเราร่วมมือกันทำด้วยความสร้างสรรค์มันก็จะได้ประโยชน์ เกิดการทำงานด้วยกันอย่างมีพลัง
ด้าน น.ส.วราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมหลังว่า ทางเครือข่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมในทุกรูปแบบเช่นกัน และอยากให้กระทรวงในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะ มีนโยบายผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ มีมาตรการที่ชัดเจน โดยอยากให้หน่วยระบุเรื่องการลดปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นตัวชี้วัดด้านปลอดภัยของผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ เหมือนที่หน่วยงานต่างประเทศและหน่วยงานระดับชาติเขาให้ความสำคัญกันในเรื่องนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่น "คู่มือเผือก" ครั้งนี้ เครือข่ายฯยังมีการสาธิตการใช้คู่มือต้นแบบในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถรับมือเป็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยพนักงานจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และยังมีผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ ได้บอกเล่าความรู้สึกของการถูกคุกคามด้วย