กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือน รวมทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ติดตั้งระบบเตือนภัย ตลอดจนจัดทำคู่มือความปลอดภัยและคำเตือนอันตรายจากการท่องเที่ยว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากตรวจสอบ พบว่า แหล่งท่องเที่ยวใดเสี่ยงภัยสูงให้ปิดเป็นการชั่วคราว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า สภาวะอากาศในปัจจุบันมีความแปรปรวนมาก และยากต่อการคาดการณ์ลักษณะอากาศ โดยหลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัด ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรม ปภ.จึงได้แจ้งให้จังหวัด
ที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ดำเนินการตามมาตรการดังนี้ เร่งสำรวจตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดฝึกซ้อมแผนการแจ้งเตือนและอพยพหนีภัยในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวเป็นประจำ ตลอดจนจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดห้วงเวลาปิดแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงภัยสูงในช่วงฤดูฝน เป็นการชั่วคราว ประสานให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อ.ส.)และสมาชิกอาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ร่วมกับ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เฝ้าระวัง ดูแล และแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว หากสังเกตพบว่า มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำในลำห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีน้ำเริ่มขุ่นแดง พฤติกรรมสัตว์ในบริเวณนั้น เปลี่ยนแปลงไปหรือมีเสียงดังผิดปกติจากพื้นที่ต้นน้ำ ให้แจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ลงเล่นน้ำ ล่องแก่ง หรือท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้รีบขึ้นจากน้ำหรือออกจากบริเวณดังกล่าวทันที รวมทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ในสถานที่ท่องเที่ยวที่ประชาชนนิยมไปท่องเที่ยว เพื่อแจ้งเตือน ให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม จัดที่พักผ่อนบนตลิ่ง หรือพื้นที่สูง รวมทั้งกำหนดพื้นที่ปลอดภัย สำหรับท่องเที่ยวทางน้ำไว้เป็นการเฉพาะ จัดทำคู่มือความปลอดภัยและ คำเตือนอันตรายจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นข้อมูลความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว รวมทั้งรับทราบสถานการณ์สาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ดำเนินการติดตั้งระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ได้แก่ หอสังเกตการณ์ หอสัญญาณเตือนภัย หอกระจายข่าว ไซเรนมือหมุน ติดตั้งธงสัญลักษณ์บอกเหตุ ( แดง เหลือง เขียว ) เพื่อสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป