กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยืนยันยังจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นปกติเหมือนเดิม เน้นใช้มาตรการเข้มงวดเอาผิดกับนายจ้างรายที่มีปัญหาไม่ยอมแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า เนื่องจากมีนายจ้างบางรายไม่ยอมแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง เช่น การแจ้งเข้า-ออกต่อทางสปส. หรือบางรายแจ้งล่าช้าเกินกว่ากำหนด เป็นเหตุให้กระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตร คือ ลูกจ้างที่มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรอยู่ได้ลาออกจากงานแล้ว แต่นายจ้างไม่แจ้งการลาออกต่อสปส.หรือแจ้งล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้สปส.ได้รับข้อมูลล่าช้าและมีการประมวลผลตัดจ่ายเงินเกินสิทธิที่ผู้ประกันตนพึงได้รับ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อกองทุนประกันสังคม สปส.จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการประมวลผลการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน โดยให้มีระยะเวลารอ 3 เดือน แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนที่นายจ้างปฏิบัติถูกต้องมาโดยตลอด
สปส. จึงต้องนำมาตรการเข้มงวดในการให้นายจ้างแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงมาใช้ ซึ่งในปี2549 สปส.ได้ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับนายจ้าง จำนวน 74 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 608,000 บาท ดังนั้น กรณีที่มีลูกจ้างออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) พร้อมทั้งระบุสาเหตุการออกจากงาน กรณีผู้ประกันตนเปลี่ยนชื่อ — ชื่อสกุลหรือข้อมูลสถานภาพครอบครัว และข้อมูลจำนวนบุตร ให้ใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส.6-10) สำหรับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง เช่น กรณีเปลี่ยนชื่อกิจการ เปลี่ยนแปลงที่ตั้ง/สาขา หรือยกเลิกกิจการ ฯลฯ ใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส. 6-15) ยื่น ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้ หากนายจ้างรายใดมีเจตนาไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อเท็จจริง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ