กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
อพท.เลย ปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชน จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวบ้านเก่าเล่าเรื่องนาอ้อ ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนตามเส้นทางวัฒนธรรม ชูไฮไลท์ประติมากรรมหุ่นฟางแลนด์มาร์คใหม่ สร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวใหม่ สร้างความเข้มแข็งและชุมชนยั่งยืนตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย หรือ อพท.5 เปิดเผยว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษเลยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวบ้านเก่าเล่าเรื่องคนนาอ้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนตามเส้นทางวัฒนธรรม พร้อมจัดทำประติมากรรมหุ่นฟาง โดยอพท.ได้เข้าไปพัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนการท่องเที่ยวแก่ชุมชนนาอ้อ พร้อมทั้งสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและชุมชนยั่งยืนตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
ทั้งนี้ ชุมชนนาอ้อเป็นชุมชนเก่าแก่ มีเชื้อสาย "เผ่าไทลื้อ" เริ่มมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2236 ดังนั้น จึงเห็นว่าในตำบลนาอ้อจะมีโบราณสถานที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์มากมาย เช่น วัดศรีจันทร์ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย มีส้วมฝรั่งเศส ซึ่งสื่อถึงเรื่องราววีรกรรมของชาวนาอ้อในสมัยที่ฝรั่งเศสบุกเพื่อชิงดินแดนประเทศไทย นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนนาอ้อ ยังเต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีคุณค่า ซึ่งคู่ควรแก่การอนุรักษ์หวงแหน มีศาลเจ้าปู่คำแดง ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนาอ้อเคารพนับถือ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ชุมชนนาอ้อจะเป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดเลย อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม โบราณสถาน และมีประวัติศาสตร์มากมาย แต่จุดอ่อนในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนนาอ้อ คือ ขาดการนำเสนอให้น่าสนใจและขาดแหล่งดึงดูด อพท. จึงมีแนวคิดในการสร้างประติมากรรมหุ่นฟางขึ้นมา เพื่อสร้างจุดขายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว
สำหรับประติมากรรมหุ่นฟางมีทั้งหมด จำนวน 6 ตัว ประกอบด้วย ช้าง ปลาแม่น้ำโขง หุ่นฟางชาวชุมชนนาอ้อ น้องพาเพลิน (mascot ของ อพท.) ค่างแว่นถิ่นเหนือแห่งวัดถ้ำผาปู่และพญานาค เพื่อเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างจุดขายให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน ด้วยการนำกองฟางที่เหลือเหลือทิ้งจากการทำนามาสร้างเป็นหุ่นฟางจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มมูลค่าในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอื่น ๆ และเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในบ้านนาอ้อเพื่อเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้หุ่นฟาง ประกอบด้วย 1. ช้าง : มีความหมายถึง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นครั้งแรก โดยเสด็จฯ ไปยังหลังแป อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้ประทับช้างที่กรมป่าไม้จัดถวาย ซึ่งมีช้างจำนวน 2 เชือก มีชื่อว่า พลายหมื่นและพลายแสน จากนั้นทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงประทับช้างชมทัศนียภาพที่เป็นทุ่งหญ้า และน้ำตกธารสวรรค์ และอื่น ๆ ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
2. ปลาแม่น้ำโขง : จำนวน 10 ชนิด มีความหมายถึง ปลาที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง เป็นปลาที่มีในพื้นที่จังหวัดเลย อยู่คู่กับวิถีชีวิตกับชาวจังหวัดเลยมาตั้งแต่อดีต โดยมีปลาชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ปลาบึก ปลาคัง ปลากระทิง ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขง หรือ ปลาปักเป้าบึง ปลาค้าว ปลาตองลาย ปลาเสือตอลายเล็ก ปลาโจกและปลาไน
3. หุ่นฟางชาวชุมชนนาอ้อ : มีความหมายถึงชาวชุมชนนาอ้อ ที่มีประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี จะมีการแสดงครกมอง หรือครกกระเดื่องเพื่อสื่อถึงการปลูกข้าว ตำข้าวในอดีต รวมไปถึงจัดแสดงเครื่องมือจับปลา ทอผ้า และอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงหุ่นชาวนาอ้อ
4. น้องพาเพลิน : (ตัวการ์ตูนสีน้ำเงิน) เป็นมาสคอต (mascot) ของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) มีชื่อว่า "น้องพาเพลิน" ซึ่งชนะ ประกวดการออกแบบโดยนายสมพงษ์ รัตนกุญชร โดย อพท. จะใช้มาสคอตนี้เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในทุกพื้นที่พิเศษที่ดูแล ซึ่งตำบลนาอ้อถือเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อพท. ดำเนินงาน
5. ค่างแว่นถิ่นเหนือแห่งวัดถ้ำผาปู่ : เป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตำบลนาอ้อ และมีแห่งเดียวในจังหวัดเลย ณ วัดถ้ำผาปู่ จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม ถ่ายรูปและให้อาหาร
6. พญานาค : เป็นตำนานความเชื่อที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน มีตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้คนจำนวนมากให้ความเคารพนับถือและสักการะบูชา