ปภ. สรุปสถิติอุบัติเหตุใหญ่ ปี 50 ภาคกลางเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

ข่าวทั่วไป Monday October 22, 2007 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปจำนวนอุบัติเหตุจราจร ปี 50 ช่วง 8 เดือน(เดือนมกราคม — สิงหาคม) ลดลงร้อยละ 5.35 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71 บาดเจ็บลดลงร้อยละ 4.89 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ยานพาหนะ ที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ รวมมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สินกว่า 2,900 ล้านบาท สูงกว่าปี 2549 ถึง 900 ล้านบาท โดยอุบัติเหตุขนาดใหญ่เกิดขึ้นในภาคกลางมากที่สุด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในช่วง 8 เดือนของปี 2550 (เดือนมกราคม — สิงหาคม) พบเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก จำนวน 68,085 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.35 จำนวนผู้เสียชีวิต รวม 8,333 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 220 คน คิดเป็นร้อยละ 2.71 และจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัส รวม 10,921 คน ลดลงจากปี 2549 จำนวน 561 คน คิดเป็นร้อยละ 4.89 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 415 คน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 357 คน โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด 11,559 ราย รองลงมา ได้แก่ ตัดหน้ากระชั้นชิด 9,489 ราย เมาแล้วขับ 4,082 ราย ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ จำนวน 45,877 คัน รองลงมา รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 26,813 คัน รวมมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สิน 2,979.325 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 2549 ถึง 931.709 ล้านบาท สำหรับสถิติอุบัติเหตุใหญ่ในช่วงมกราคม — กันยายน ปี 2550 พบว่า เกิดขึ้นในภาคกลางมากที่สุด จำนวน 55 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 32.74 รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 38 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 22.62 มีผู้เสียชีวิตรวม 315 คน บาดเจ็บ 1,897 คน โดยส่วนใหญ่เกิดบนถนนเขตทางหลวงแผ่นดิน จำนวน 138 ครั้ง ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้นำข้อมูลการวิเคราะห์อุบัติเหตุทางถนนไปปรับยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละจังหวัดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ