กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--แฟรนคอม เอเชีย
หัวเว่ยรับมอบรางวัล "นวัตกรรมโมบายล์ยอดเยี่ยมด้านสมาร์ทซิตี้" หรือ Best Mobile Innovation for Smart Cities จากสมาคม GSM ที่เมืองบาร์เซโลน่า รางวัลดังกล่าวเป็นการยกย่องการมีส่วนร่วมด้านนวัตกรรมของหัวเว่ยในฐานะเป็นบริษัทแรกที่ได้ปรับใช้เทคโนโลยี NB-IoT กับโครงการสมาร์ทซิตี้กว่าสิบโครงการ
"ขณะนี้ เทคโนโลยี NB-IoT มีความพร้อมสำหรับใช้งานด้วยระบบนิเวศที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีคุณค่าทางธุรกิจอย่างชัดเจน" มร. เอ็ดเวิร์ด ฟาน รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ของหัวเว่ย กล่าว "เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา มีโครงข่าย NB-IoT เชิงพาณิชย์ 39 โครงข่าย สถานีฐาน 500,000 แห่ง และการเชื่อมต่อ 100 ล้านครั้ง และคาดว่าในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 เราจะได้เห็นเครือข่ายเชิงพาณิชย์มากถึง 100 โครงข่าย สถานีฐาน 1.2 ล้านแห่ง และมีการเชื่อมต่อมากถึง 150 ล้านครั้ง" มร. ฟาน กล่าวเสริม "โซลูชั่นสมาร์ทซิตี้ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี NB-IoT จะช่วยให้การบริหารเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้บริการสาธารณะได้ดีขึ้นและพัฒนาเมืองให้ทันสมัยได้ง่ายขึ้น และผู้คนก็จะมีชีวิตที่ปลอดภัย สะดวกมากขึ้นและดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เราขยับเข้าใกล้เป้าหมายของการเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความเจริญ น่าอยู่ และมีการบริหารจัดการที่ดี"
สมาร์ทซิตี้กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรและบริษัทต่าง ๆ หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอัจฉริยะเกือบ 50 แห่ง ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ครอบคลุมถึง 40 อุตสาหกรรม อาทิ ระบบมิเตอร์น้ำและแก๊ส, ระบบจอดรถบนถนน, ระบบแสงไฟ, ระบบแชร์จักรยาน, ระบบตรวจจับควัน, ระบบตรวจสอบหัวก๊อกน้ำดับเพลิง, ระบบตรวจสอบฝาท่อระบายน้ำ, ระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อม, ระบบจัดการเก็บขยะ และระบบบริหารตู้ไปรษณีย์ ในเมืองอัจฉริยะอิงถาน มณฑลเจียงซีของจีน เราพบว่า เมื่อฟ้าเริ่มสลัว ไฟบนถนนจะสว่างขึ้นในเวลากลางคืน การป้องกันเหตุเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ๆ ก็ควบคุมได้ง่ายขึ้น และแม้แต่การสูญเสียน้ำที่รั่วจากท่อก็มีปริมาณน้อยลง
ในขณะเดียวกัน โครงการที่ส่งมอบไปทั้งหมดยังแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่สามารถวัดค่าได้อีกด้วย เห็นได้จากข้อมูลการใช้งานที่หัวเว่ยนำมาเผยในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส 2018 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมมองเห็นรายได้ที่เติบโตขึ้น 3 – 10 เท่า นอกเหนือจากธุรกิจการเชื่อมต่อแบบเดิมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยที่ว่า "มากกว่าการเชื่อมต่อ คือเพิ่ม IoT เป็นอีกหนึ่งบริการ" ได้อย่างชัดเจน