กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สานต่อไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาองค์ความรู้ วิจัยผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมภูมิปัญญาสู่ภาคธุรกิจ สนับสนุนการแพทย์ครบวงจรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1 ใน 3 ของเอเชีย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในวาระกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครบรอบ 76 ปี ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรลุเป้าหมายใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม พร้อมกับประกาศเจตจำนงการบริหารด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตประจำปี 2561 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการบริหารงานให้สำเร็จตามพันธกิจของหน่วยงานอย่างมีธรรมาภิบาล
ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีภารกิจสำคัญ 3 ด้านคือ พัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ (Innovation) สนับสนุนระบบบริการสุขภาพ (Technology Support) คุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีนโยบายเน้นหนัก 3 ข้อหลัก คือ 1.ด้านความมั่นคง เน้นความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน การดูแลสุขภาพให้มีมาตรฐานและเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยการพัฒนามาตรฐาน 3 ด้านคือ มาตรฐานห้องปฏิบัติการทุกระดับ มาตรฐานการตรวจ และมาตรฐานของน้ำยาและชุดทดสอบทางห้องปฏิบัติการ 2.ความมั่งคั่ง ส่งเสริม สนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ที่สำคัญคือเรื่อง Biopharmaceuticals ยาที่ผลิต ในประเทศไทยให้มีการพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการการต่างๆ เช่น ศูนย์สัตว์ทดลอง เพื่อให้ได้ OECD GLP รองรับการพัฒนายาให้สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ และ 3.ความยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าพื้นฐาน จากสินค้าเกษตรพื้นฐานธรรมดาให้เป็นสินค้าสมัยใหม่หรือ Smart Product โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า (Value Added) รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่จะตรวจสอบมาตรฐานสำหรับการส่งออกของผลิตภัณฑ์เกษตรสมัยใหม่ได้ เพื่อสนองนโยบายพัฒนา Smart Farmer
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนนโยบายแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะใกล้ (1-5ปี) ระยะกลาง (5-10ปี) และระยะยาว (10-20ปี) เพื่อมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ การผลิตยาชีววัตถุและการควบคุมคุณภาพยาชีววัตถุคล้ายคลึงของไทย ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียน และเอเชีย การใช้ข้อมูลพันธุกรรม เพื่อผลทางคลินิก มีกฎหมายคุ้มครอง และมีหน่วยงานกำกับดูแล การเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 ประเทศไทยสร้างรายได้เข้าประเทศ จากอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เป็นผลมาจากการวิจัยราว 500,000 ล้านบาท ห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศไทย มีความสามารถในระดับ 1-3 ของเอเชียเทียบเท่าสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น สร้างความมั่งคั่ง และรักษาสมบัติชาติ จากมรดกภูมิปัญญาไทยด้านสมุนไพร ประชาชนได้รับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม มีอายุขัยเฉลี่ยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพัฒนาผู้ประกอบการด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ GDP ของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) สูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP รวมทั้งประเทศ
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4.0 มีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1 ใน 3 ของเอเชีย ประชาชนมีสุขภาพดี สร้างรายได้/ลดค่าใช้จ่ายให้ประเทศไทย 2 ล้านล้านบาทต่อปี" นายแพทย์สุขุมกล่าว