กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ความกลัวของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,176 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ความกลัวของประชาชนที่มากที่สุด คือ ความกลัวต่ออุบัติเหตุทางถนน โดยส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 93.8 กลัวต่อ อุบัติเหตุทางถนน เพราะ คนขาดวินัย คนขับขับตามใจ ไม่ทำตามกฎหมาย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ขับด้วยความประมาทหวาดเสียว เจ้าหน้าที่รัฐไม่จับกุมจริงจัง คนไม่เข็ดหลาบ ใช้อิทธิพล พรรคพวกช่วยเหลือกัน คนละเมิดกฎ กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย และ 5 จุดสำคัญทำให้กลัวอุบัติเหตุบนถนนคือ จุดถนนชำรุด จุดก่อสร้างบนทางถนน จุดตั้งด่าน ขาดการแจ้งเตือนล่วงหน้า จุดกลับรถ และจุดบอกทางสับสน สื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ทำให้คนขับสับสน เช่น ขับช้า เปิดไฟหน้า หมายถึง ให้ขับรถช้า หรือ ให้รถที่ขับช้าเปิดไฟหน้า แนะให้ใช้คำว่า ลดเร็ว ลดตาย และให้เปิดไฟหน้ารถ ลดอุบัติเหตุ แทน เป็นต้น
รองลงมาคือ ความกลัวต่ออาชญากรรม โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 กลัวต่ออาชญากรรม เพราะ พบเห็นคนทำผิด ใช้อิทธิพล กลุ่มแก๊งอัธพาล ยาเสพติด ฉกชิงวิ่งราว คุกคามลวนลามทางเพศ เกิดเหตุไม่รับแจ้ง โยนความเดือดร้อนโยนความรับผิดชอบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่บังคับใช้กฎหมายแท้จริง พวกพ้องช่วยเหลือคนผิด คนทำผิดหนีได้ลอยนวล เจ้าหน้าที่เข้าถึงที่เกิดเหตุล่าช้า ทรัพย์สินสาธารณะของชุมชนถูกทำลาย บ้านเมืองไม่สวยงาม กลุ่มแก๊งอัธพาล ก่อความเดือดร้อนรำคาญ พ่นสีสเปรย์ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
อันดับสามคือ ความกลัวต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นธรรม โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 กลัวต่อกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม เพราะ การใช้พวกพ้อง น้องพี่ เครือข่าย อำนาจ เงิน อิทธิพล ผลประโยชน์อื่นๆ และใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้กระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
อันดับที่สี่ คือ ความกลัวต่อ ความขัดแย้ง รุนแรงบานปลาย วุ่นวายในสังคม โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 กลัวความขัดแย้ง รุนแรงบานปลาย วุ่นวายในสังคม เพราะ ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันด้วยความยากลำบาก เดือดร้อน ทำมาหากินไม่ได้ ไม่ปลอดภัย ไม่มีความสุข เกิดกลุ่มคนร้าย สร้างสถานการณ์ ก่อเหตุร้าย ทำร้ายกัน ปิดถนน กลุ่มมิจฉาชีพตรวจค้น บ้านเมืองไร้ระเบียบและกฎเกณฑ์ และกลัวการเผาบ้านเผาเมือง ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เป็นต้น
และสุดท้าย คือ ความกลัวต่อ การไม่มีจะกิน กลัวไม่มีงานทำ กลัวถูกแย่งงาน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.0 กลัวไม่มีจะกิน กลัวไม่มีงานทำ กลัวถูกแย่งงาน เพราะ หางานทำยาก ทำมาค้าขายยาก ขาดแหล่งเงินทุน ขาดสภาพคล่อง มีกฎระเบียบมากมาย การใช้เส้นสายในการทำกิน ขาดความเป็นธรรมในการทำกิน มีความเหลื่อมล้ำในอาชีพการงานและการค้าขาย และอาชีพการทำงานของคนไทยถูกต่างชาติแย่งทำกิน เป็นต้น