กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ไทยได้รับประโยชน์จากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ว่าด้วยการส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งอย่างจำกัดเพราะยังขาดยุทธศาสตร์ในการเจรจา และ ประเทศไทยก็ยังไม่มียุทธศาสตร์อาเซียน และ ยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยควรแสดงบทบาทนำในการกำหนดจุดยืนของอาเซียนในประเด็นเจรจาหารือต่างๆกับออสเตรเลีย
ข้อเสนอแนะควรเพิ่มความเชื่อมโยงในระดับต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในระดับประชาชน ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน ทำให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
16.00 น. 18 มี.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนออสเตรเลีย ว่า ไทยได้รับประโยชน์จากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ว่าด้วยการส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งอย่างจำกัดเพราะยังขาดยุทธศาสตร์ในการเจรจา และ ประเทศไทยก็ยังไม่มียุทธศาสตร์อาเซียน และ ยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย ที่ชัดเจน ถ้อยแถลงของรัฐบาลหลังการประชุมยังเป็นหลักการและแนวทางกว้างๆเท่านั้น อาเซียนโดยรวมก็ได้รับประโยชน์อย่างไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน ยกเว้นมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ได้มีการวางยุทธศาสตร์ในการประชุมที่ชัดเจนกว่าประเทศอื่น ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศลงรายละเอียดของสองประเทศอาเซียนนี้เป็นหลัก รวมทั้งอาเซียนยังขาดการทำยุทธศาสตร์ร่วมกันในบางเรื่อง อาเซียนควรยกระดับประชาเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบ FTA สู่ การเป็น สหภาพทางภาษีศุลกากร หรือ Customs Union อันนำไปสู่การมีนโยบายการค้าร่วมกันต่อประเทศภายนอกอาเซียน และ ควรพิจารณาร่วมกันว่า การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและความมั่งคั่งกับออสเตรเลียจะทำกันในระดับไหน โดยข้อตกลงในระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียนี้จะมีผลต่อระบบความมั่นคงของโลกและระบบการค้าโลกอย่างไร หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หากอาเซียนบางประเทศยังมีภาษีศุลกากรค่อนข้างสูง ข้อตกลงการค้าภูมิภาคอาเซียนออสเตรเลียอาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าการเพิ่มพูนการค้าที่มีประสิทธิผล ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ก็มีการหารือกันเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ การฟอกเงินซึ่งหลายประเทศ
ในอาเซียนก็มีปัญหาการฟอกเงินและคอร์รัปชันมากรวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางประเทศจึงมีการชุมนุมประท้วงโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในออสเตรเลีย เวลาหารือกันจึงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงและถกแถลงกันได้ไม่เต็มที่ หรือ Controversial
เขาให้ความเห็นอีกว่า "การประชุมเป็นการหารือเรื่องกว้างๆที่ยังไม่เห็นว่าจะนำไปสู่ข้อตกลง ความร่วมมือและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรในระยะเวลาอันใกล้ ความล่าช้าทำให้ประเทศและภูมิภาคสูญเสียโอกาสบางส่วนไปจากศูนย์กลางของโลกที่กำลังเคลื่อนย้ายสู่เอเชียตะวันออกมากขึ้นตามลำดับ การขยายตัวของความมั่งคั่งดีกว่าภูมิภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม ความเป็นภูมิภาคนิยมทางเศรษฐกิจการค้าต้องไม่ขัดกับระบบการค้าโลกและธรรมาภิบาลของระบบการค้าโลกภายใต้องค์การการค้าโลก นั่นหมายความว่า เมื่อพิจารณาไปในอนาคตแล้ว หุ้นส่วนและข้อตกลงทางการค้าที่ดำเนินการอยู่ กรณีนี้ คือ อาเซียน-ออสเตรเลีย ต้องสนับสนุนและไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าในระดับโลก ฉะนั้นการรวมกลุ่มการค้าของอาเซียนและออสเตรเลียต้องเป็นแบบสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Building Trade Bloc ไม่ใช่ Stumbling Bloc
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสนอแนะว่า ไทยควรแสดงบทบาทนำในการกำหนดจุดยืนของอาเซียนในประเด็นเจรจาหารือต่างๆกับออสเตรเลีย ควรเพิ่มความเชื่อมโยงในระดับต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในระดับประชาชน การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัย ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน ทำให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเชื่อมโยงด้านต่างๆทั้งระบบขนส่งและโลจีสติกส์ โทรคมนาคมการสื่อสาร โครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน วัฒนธรรม การศึกษา การกำหนดระบบกฎหมายกฎเกณฑ์และกติการ่วมกันที่เป็นมาตรฐาน ที่สำคัญที่สุด คือ การประชุมหารือตกลงกันระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียต้องนำไปสู่การปฏิรูปภายในของแต่ละประเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล