กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ คณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 11 บริษัทภาคเอกชน ด้านธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดิ เอ็กซ์เพิร์ท ไอซีที จำกัด, บริษัท ทูสปอตคอมมิวนิชั่น จำกัด, บริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ดี บัสซ์ จำกัด, บริษัท ยิบอินซอย จำกัด, บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมี พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการเป็น Practice-University ที่ให้ความรู้และพัฒนาทักษะแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเรียนคณะใด นักศึกษาทุกคนเมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถใช้นวัตกรรมและดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Entrepreneurship) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน จากทุกคณะและสาขา ฝึกฝนทักษะพื้นฐานการโค้ด (Coding) หรือ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สมัยใหม่ โดยมีการเปิดสอนวิชา GE201 การคิดเชิงนวัตกรรมทางดิจิทัลและการโค้ด (Digital Innovative Thinking and Coding) เพราะเทคโนโลยีที่เราใช้ประโยชน์กันทุกวันนี้ เบื้องหลังต้องเกี่ยวข้องกับการ Coding ทั้งนั้น วิชานี้จะช่วยฝึกให้นักศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถสร้างคำสั่งให้โปรแกรมทำงานให้ตามที่เราต้องการได้ หากผู้ประกอบการมีทักษะการ Coding จะช่วยให้พวกเขาต่อยอดความคิดไปได้ไกลกว่าเดิม สามารถสร้างสรรค์โซลูชั่นต่างๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมได้ในอนาคต
ดังนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความพร้อมเดินหน้าให้ความรู้ และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ตามแนวทางการเป็น Practice University ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน Work Integrated Learning หรือ WIL ร่วมกับ สถานประกอบการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0 ด้วยเครือข่ายหอการค้าไทยที่เป็นจุดแข็งของเรา ผ่านโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการฯ จากองค์กรภาคเอกชน 11 บริษัท นั้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับองค์กรที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนในการเสริมทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) ภายใต้ เจตนารมณ์และหลักการร่วมกันในสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ เศรษฐกิจและบริการของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ จำนวน 4 สาขา ได้แก่ Big Data Management, Game Business, Digital Technology และ Digital Content Creation รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้น 2 หลักสูตร ได้แก่ Industry of Digital Communication Business และ Data Science ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา จากองค์กรผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) จำนวน 30 ทุน ให้แก่นักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2561 ที่สมัครเรียนสาขาวิชาใหม่ดังกล่าว จะได้รับโอกาสในการทำงานกับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ขณะที่กำลังเรียนอยู่ และภายหลังที่จบการศึกษาแล้วเพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดประสบการณ์โดยตรง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยฯ ที่กำลังเดินหน้าสร้าง "นักรบเศรษฐกิจ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล 4.0" ที่แตกต่าง ใฝ่เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน มีความคิดเชิงนวัตกรรม มีความสามารถในการปรับตัว ทำงานด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และที่สำคัญ "กล้าลงมือทำ" เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทั้งในภาคธุรกิจและการบริการในยุคธุรกิจดิจิทัล ให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในโลกแห่งเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะด้าน Digital ทำให้เกิดรูปแบบของธุรกิจและ Platform ใหม่ที่ต้องสามารถตอบสนองและเข้าถึงตลาดและลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง อาทิ Amazon, Airbnb, Fintech, grab taxi เป็นต้น
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและบริการของไทย จึงได้วางกรอบวิสัยทัศน์ให้ "เป็นสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศที่ใช้ข้อมูล ความรู้ เครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืน" ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0 คือ การนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม (Cultural Economy) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มาผนวกต่อยอดการพัฒนาธุรกิจและบริการใน Value Chain ของตนอย่างสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ
จากที่กล่าวมาเบื้องต้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการพัฒนาประเทศไทยสู่ Trade & Service 4.0 โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง อาทิ สมาชิกธุรกิจขนาดใหญ่ หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือ YEC ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในการส่งเสริมการผลิตบุคลากรและพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับมาตรฐานสากลทั้งในกลุ่มบุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจ และกลุ่มที่ยังอยู่ในภาคการศึกษาปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจที่จะต้องปรับไปในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
คุณวิชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการ Creative Digital Economy กล่าวว่า จากการสถานการณ์โลกที่ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 กับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ กระบวนการทำงานแบบใหม่ และวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยประเทศไทย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 65.9 ล้านคน (ที่มา : กรมการปกครองในปี 2559) มีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Mobile Cellular Subscriptions) 125.8% คือ 1 คนมีมากกว่า 1 เบอร์ มีผู้ใช้งานมือถือบรอดแบนด์ไร้สาย (Mobile Broadband Subscriptions) ประมาณ 75.3% ของประชากรทั้งหมด และสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2559
อีกทั้ง มูลค่าอีคอมเมิร์ซ ปี 2558 มีมูลค่า 64.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.25 ล้านล้านบาท และมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C 15.69 พันล้านดอลลาร์หรือ 5.09 แสนล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อันดับการแข่งขันด้านดิจิทัลโลก (World Digital Competitiveness Ranking) ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยที่นำมาพิจารณาคือเรื่องเทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ได้อันดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบในช่วง 3 ปีก่อน (2557-2559) โดย ประเทศไทย มีจำนวนคนทำงานด้านไอซีที 374,000 คน จากสถิติในปี 2559 เป็นชาย 68.8% และหญิง 31.2% ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในเขตเทศบาลหรือเขตเมือง 77.5% เป็นต้น
จากความสำคัญที่กล่าวมาเบื้องต้น คณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้วางกรอบแนวทางนโยบายไว้ 4 ด้านเพื่อตอบสนองและสอดรับกับนโยบาย Trade & Service 4.0 ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพสูง
2) การขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs.
3) การพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพกำลังคนให้รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม
4) การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยวันนี้ คณะกรรมการ Creative Digital Economy มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ 11 บริษัทภาคเอกชน ด้านธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล มีความตั้งใจในการยกระดับบุคลากรด้านดิจิทัล โดยจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนในการเสริมทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ ในระดับผู้บริหารรุ่นใหม่ คณะกรรมการฯ ได้จัดทำหลักสูตร Digital and Transformative Leaders หรือ DAT ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยจะเน้นการความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลที่มีความเข้าใจเชิงลึกถึงเทคโนโลยี Digital ประเภทต่างๆ การทำธุรกิจในโลกของ E-commerce การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Business Analytics และการจัดการ Big Data ในองค์กร การทำการตลาดในยุค Digital การปรับตัวขององค์กรสู่ยุค Technology Disruptive ด้วยหลักการการบริหารการเงิน การบริหารงานบุคคล และการบริหารการขายสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ รวมถึง การปรับ mindset ให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และนวัตกรรม (Innovation) มาใช้ในการบริหารงานองค์กรยุค 4.0 เพื่อร่วมสร้างคนดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลที่มีแผนพัฒนากำลังคนดิจิทัลทุกระดับจำนวน 5 แสนคนใน 5 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 4.0 ในอนาคต
สุดท้ายนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดทำระบบสหกิจศึกษาออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกผู้ประกอบการ สามารถแจ้งความจำนงในการเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้ที่ http://department.utcc.ac.th/cooperative/member_login.php โดยในวันนี้ ได้มี บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไอ ดิจิตอล คอนเนคท์ จำกัด ร่วมโครงการสหกิจศึกษาออนไลน์ภายใต้วัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น