กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--วช.
ประเทศไทยได้ชื่อว่ามี “ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน” เป็นจำนวนมาก หนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านที่รู้จักกันดีคือ “พืชสมุนไพร” การนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ปีละนับล้านล้านบาท และหากผลิตเป็นยาในรูปสารสกัดส่งออกไปขายยังต่างประเทศก็จะช่วยลดการนำเข้ายา ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร และคณะจากภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรเพื่อการส่งออกและการสร้างงานระยะที่ 1 : การพัฒนาคุณภาพสมุนไพร”
ผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยนำเข้าสมุนไพรสด สมุนไพรแห้งและสมุนไพรที่อยู่ในรูปสารสกัดจากสหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เยอรมนี สเปน อังกฤษและฝรั่งเศส และขาดดุลการค้าสมุนไพรกับประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนามและสเปน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้มีการเพาะปลูกพืชสมุนไพรเพื่อลดการนำเข้าและเร่งทำการวิจัยและพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น กานพูล จันทน์เทศ ชาเชียว ถั่วเหลือง ไทม์และใบเบย์ ชะเอม ไพเรทรัม เทียนข้าวเปลือก ผักชี ละหุ่ง ทานตะวัน พริกในตระกูลแคปซีกัม ยี่หร่าหรือโป๊ยกั๊ก สาหร่ายทะเล หญ้าฝรั่นและอบเชย โดยเฉพาะกระเทียม กระวาน ขมิ้น ขิง พริกไทย งาขาว งาดำและแมงลัก เนื่องจากพืชสมุนไพรดังกล่าวมีราคาต่อหน่วยเปลี่ยนแปลงมากจึงต้องพัฒนารูปแบบการส่งออกในลักษณะสารสกัดที่สามารถควบคุมคุณภาพเพื่อจะได้ราคาต่อหน่วยคงที่และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมให้มีการส่งออกและลดการนำเข้าสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ขี้เหล็ก บัวบกและพญายอ แต่จะต้องมีการปฏิบัติที่ดีในการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การผลิต การตรวจวิเคราะห์และการวิจัยทางคลินิก ซึ่งในงานวิจัยยังได้ระบุถึงโครงการนำร่องการสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบสมุนไพรของชุมชนปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม ในรูปแบบของสมุนไพรแห้งหรือผงโดยมีคุณภาพอยู่ในระดับชุมชน อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันช่วยวิเคราะห์ วิจัยและรับรองผลสมุนไพรในทุก ๆ ด้าน เช่นตั้งเป็น Center Lab สมุนไพรเพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก--จบ--