ไทยแลนด์โฟกัส 2007 ประสบความสำเร็จ ผู้ลงทุนขานรับ เผยได้ข้อมูลครบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และข้อมูลบริษัทจดทะเบียนชั้นนำ

ข่าวทั่วไป Friday September 14, 2007 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ตลท.
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2007 ซึ่งร่วมจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ลินช์ และบล.ภัทร จำกัด (มหาชน) ว่า ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ถึงแม้จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 2 วันแรกของการจัดงาน (12-13 ก.ย.2550) ได้มีการนำเสนอข้อมูลรวม 6 หัวข้อสัมมนา ในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสถาบันต่างประเทศ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวนโยบายของภาครัฐ ภาพรวมและแนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยวและการบิน ยานยนต์ แอนิเมชั่น และการสื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ดังนั้น ภาพรวมของงานที่จัดขึ้น จึงถือได้ว่าตอบสนองความต้องการของสถาบันที่ต้องการรับทราบข้อมูลปัจจุบันของไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในวันแรกนั้น ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ปาฐกถาพิเศษให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนและแนวทางที่จะกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคมและการพัฒนาหลักการประชาธิปไตย รวมทั้ง ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งน่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม ปี 2551
สำหรับการพบบริษัทจดทะเบียนเพื่อหาข้อมูลเพื่อการลงทุนแบบรายต่อรายนั้น ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากโดยตลอด 2 วันที่ผ่านมามีการพบปะกันรวมถึงกว่า 600 ครั้ง โดยเมื่อครบ 3 วันจะมีการพบปะกันรวมประมาณ 1,000 ครั้ง โดยบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมพบปะผู้ลงทุน 63 บริษัทนั้น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันประมาณร้อยละ 70 ของทั้งตลาด และเป็นตัวแทนจาก 15 หมวดธุรกิจ ซึ่งคาดว่าตลอด 3 วันของงานจะมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนถึง 151 คนเข้าร่วม
ทั้งนี้ จำนวนผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมงานทั้งหมด 270 รายนั้น มีผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมพบปะกับบริษัทจดทะเบียน มีจำนวนสูงถึง 203 ราย แบ่งเป็นต่างประเทศ 91 ราย และ 112 รายจากไทย รวมจำนวนผู้บริหารของผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมพบปะบริษัทจดทะเบียนถึง 538 คน
กลุ่มที่ผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจมากเป็นพิเศษได้แก่ กลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม และกลุ่มบริการทางการแพทย์ โดยสนใจที่จะพบกับบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจ (leading player) เนื่องจากต้องการติดตาม
ผลการดำเนินงาน และแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชลอตัวเริ่มส่งผลในบางอุตสาหกรรม โดยผู้ลงทุนเชื่อว่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวของการบริโภคในปีหน้า
สำหรับคำถามที่ผู้ลงทุนสถาบันสอบถามจากบริษัทจดทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกลยุทธ์การดำเนินงาน แนวโน้มการเติบโตของบริษัท และการบริหารเงินทุนของบริษัท (Capital Management) โดยให้ความสนใจเกี่ยวกับการเติบโตของบริษัท ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลว่าสมดุลกับการเติบโตของบริษัทหรือไม่ รวมทั้ง ยังสนใจเรื่องบรรษัทภิบาล โดยสอบถามถึงการดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นด้วย
ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนบางแห่งมีคิวพบผู้ลงทุนสถาบันตลอดทั้งวัน จนกระทั่งต้องจัดให้มีการร่วมรับประทานอาหารกลางวันไปพร้อมกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ลงทุนสถาบันได้พบปะกับบริษัทขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อหาบริษัทที่มีศักยภาพเพื่อเข้าลงทุน โดยในปีนี้มีบริษัทใน mai เข้าร่วมงาน 3 บริษัท และได้พบปะกับผู้ลงทุนโดยเฉลี่ย 4 — 5 ครั้งต่อ 1 บริษัท ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี
นายแอนเดอร์ส วิลห์บอร์น กรรมการผู้จัดการกลุ่มงานบริหารลูกค้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บล. เมอร์ริล ลินช์ (เอเชีย แปซิฟิก) จำกัด กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมงานบางรายเห็นว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยการมาร่วมงาน Thailand Focus 2007 ทำให้ได้รับข้อมูล และได้พบบริษัทที่สนใจจะเข้าลงทุน ทั้งนี้ เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น นับเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมทั้ง ความเชื่อมั่นด้านการบริโภค ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ และให้ความสำคัญกับคุณค่าและผลตอบแทนจากการลงทุน ได้ให้ความเห็นว่าหลังมีความชัดเจนทางการเมืองแล้ว อาจให้ความสนใจที่จะลงทุนในบางบริษัทในกลุ่มโทรคมนาคม และสาธารณูปโภค และผู้ลงทุนรายหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น อาจมีการลงทุนในสถาบันการเงินขนาดกลางบางแห่ง โดยเฉพาะที่ทำธุรกิจประกันชีวิต กองทุนรวม และธุรกิจเงินทุน ในขณะที่นักลงทุนบางรายสนใจที่จะเข้าลงทุนในบริษัทที่ได้รับผลดีจากการเลือกตั้ง เช่น บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับการสัมมนา 4 หัวข้อในวันที่ 13 กันยายน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก โดย ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการและผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวข้อแรกในวันนี้ คือเรื่อง Policy Option for Future Government นั้น ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นชัดว่าในอนาคตประเทศไทยมีความต้องการในด้านใด สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคืออะไร การสัมมนาในหัวข้อนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งผู้นำของประเทศและนักการเมืองรู้ว่าประเทศต้องการอะไร และจะต้องทำอะไร ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าหลังการเลือกตั้ง ประเทศไทยมีแนวทางชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรต่อไป แต่สิ่งที่ต้องมีการติดตามคือจะสามารถนำนโยบายต่าง ๆ ไปดำเนินการให้เห็นผลได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต
ในการเสวนาหัวข้อนี้ ผู้นำพรรคและกลุ่มการเมืองทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชาชน ได้ให้ความสำคัญกับการดึงความเชื่อมั่นกลับมา การสร้างความมั่นคงทางการเมือง รวมทั้ง ความโปร่งใสในการบริหารงาน รวมถึง ความชัดเจนในนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต โดยส่วนใหญ่ชูนโยบายผลักดันเศรษฐกิจ โดยมีการให้ความสำคัญกับระบบการออมภาคบังคับเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณอายุ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การลดต้นทุน การวางระบบโลจิสติกส์ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านนี้ที่สูงกว่าประเทศอื่น การพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา
สำหรับการสัมมนาหัวข้อ Thailand’s Productivity & Competitiveness หรือความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยนั้น วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสำคัญกับความสามารถในการผลิต และแนวทางการจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวทางการใช้ทรัพยากรทดแทน การส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งแนะนำว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถในการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงการเน้นจุดขายที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลักด้วย
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวเสริมว่า ในด้านการเกษตรและภาคการผลิตซึ่งดูที่ภาคการเกษตรนั้น ในช่วงหลังมีการชลอตัวลง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีนโยบายในการจัดการที่ชัดเจน ภาคที่น่าเป็นห่วงคือภาคอุตสาหกรรมซึ่งเรามีอันดับที่ลดลงเรื่อย ๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการจัดการเช่นกัน และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะต้องสานต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป
ด้านอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมในการสัมมนาหัวข้อ Telecommunications: Future Directions ซึ่งผู้บริหารจากผู้ประกอบธุรกิจเอกชน 3 รายได้แก่ บมจ. โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางในอนาคต โดยทางเอกชนเห็นว่า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคครัวเรือนที่แพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ และมีกฎหมายรองรับการจัดตั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เสียก่อน จึงจะเห็นความชัดเจนของการนำวิวัฒนาการต่างๆ มาพัฒนาในตลาดไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเสวนาเกี่ยวกับศักยภาพของธุรกิจแอนิเมชั่นของไทยในหัวข้อ “Thailand’s Animation Industry” ประธานสมาคมส่งเสริมธุรกิจคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมด้านแอนิเมชั่น คอมพิวเตอร์ กราฟฟิค และเกมส์มีการเจริญเติบโตสูงมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา และปัจจุบัน ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยยกเว้นภาษีให้กับบริษัทที่ประกอบการด้านแอนิเมชั่นเป็นระยะเวลา 8 ปี และยังเปิดเสรีให้กับการลงทุนของชาวต่างชาติด้วย จึงเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังจะสามารถเติบโตจาก 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในเวลาห้าปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ