กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--mascotcommunication
ต้อหิน เป็นโรคทางดวงตาที่พบได้บ่อย หากไม่รักษา มีอันตรายถึงขั้นตาบอด ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้นเป็นการสูญเสียแบบถาวร ไม่สามารถที่จะแก้ไขให้กลับคืนมามองเห็นดังเดิมได้ และเนื่องในสัปดาห์ต้อหินโลกที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โรงพยาบาลกรุงเทพร่วมรณรงค์อยากให้คนไทยทุกคนใส่ใจรู้เท่าทันโรคต้อหิน เข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาต้อหินแต่เนิ่นๆ โรคต้อหินพบได้ทุกช่วงอายุ จากข้อมูลของชมรมต้อหินแห่งประเทศไทยระบุว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยต้อหินทั่วโลกมากกว่า 65 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มถึง 76 ล้านคนในปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563
พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์โรคต้อหิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคต้อหินแบบเฉียบพลันมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุของการเกิดต้อหินโดยส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย และเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำลายขั้วประสาทตา ไม่มีสาเหตุและปัจจัยภายนอก ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ ไม่มีอาการบอกล่วงหน้า ชนิดของต้อหินแบ่งออกเป็น 1)ต้อหินปฐมภูมิ (Secondary Glaucoma) ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าต้อหินประเภทอื่น เกิดจากการอุดตันของ Trabecular meshwork (ทางระบายออกของน้ำในลูกตาอยู่ที่มุมตา) ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ เกิดความดันลูกตาสูง ส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย ต้อหินชนิดมุมปิด (Primary Angle-Closure Glaucoma) ต้อหินประเภทนี้พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิด เกิดจากมุมตาถูกม่านตาปิดกั้น ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ แบ่งออกเป็นต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลันและต้อหินชนิดเรื้อรัง หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลันอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยและพบในผู้หญิงเอเชียค่อนข้างมาก 2)ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma)เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุทางตา เบาหวานขึ้นจอตา เป็นต้น และ 3)ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) มักพบในเด็กแรกคลอด - 3 ปี เกิดจากพันธุกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดต้อหินได้แก่ คนมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป การใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เกิดอุบัติเหตุทางตา เช่น การกระทบกระแทกที่ดวงตา จากพันธุกรรม เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน มีสายตาที่ผิดปกติมาก เช่น สั้นมากๆ หรือยาวมากๆ (กรณีที่ไม่ใช่ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ)
ความรุนแรงของโรคต้อหินคือ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิมได้ โดยคนไข้จะต้องมาพบจักษุแพทย์ทุกๆ 3 เดือน ที่สำคัญเมื่อพบว่าเป็นโรคนี้ต้องรีบมารักษาโดยเร็วไม่ปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดในทันทีได้ ขณะที่การรักษาต้อหินแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงได้ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยมี 3 วิธีการหลักๆ ได้แก่ 1.การใช้ยา เช่น ยาหยอดตา ยารับประทาน และยาฉีด ซึ่งจักษุแพทย์จะรักษาทีละขั้นตอนแล้วดูผลการตอบสนองต่อการรักษาอย่างใกล้ชิด 2.เลเซอร์ ขึ้นอยู่กับชนิดต้อหิน ใช้เวลารักษาเพียงไม่นาน ส่วนใหญ่มักมีการให้ยาควบคู่ไปด้วยกัน 3.การผ่าตัด วิธีนี้จะใช้เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยยาและเลเซอร์แล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของต้อหิน สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ การผ่าตัดรักษาต้อหินเป็นไปเพื่อลดความดันตาไม่ใช่ผ่าตัดต้อออกไปแล้วหายขาด
การตรวจวินิจฉัยเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินมีความสำคัญมาก เพราะโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน ปัจจุบันโรคต้อหินพบในคนที่มีอายุเพียง 30 กว่าๆ เพิ่มขึ้น บ่งบอกว่าในอนาคตคนที่เป็นโรคนี้มีอายุน้อยลง ดังนั้นถ้าใครที่มีประวัติเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาโดยเร็ว แต่ถ้าหากเป็นคนทั่วไปแนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจต้อหินในปัจจุบันสามารถทราบผลได้ทันที ด้วยการตรวจอย่างละเอียด โดยเครื่องสแกนวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography) และเครื่องตรวจลานสายตา (Computerized Static Perimetry) ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคต้อหินได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดวงตาของคนเรากับการใช้งานสมาร์ทโฟน หากต้องใช้งานตอนกลางคืนควรเปิดไฟให้สว่าง เพื่อช่วยให้สบายตา ไม่ควรปิดไฟแล้วมองหน้าจอสมาร์ทโฟนที่มีแสงจ้า ทุกๆ 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมงควรพักสายตาประมาณ 20 วินาทีถึงครึ่งนาที และควรหยอดน้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสียเพื่อป้องกันไม่ให้ตาแห้ง ใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตากันตั้งแต่วันนี้ เพราะดวงตาของเรามีเพียงคู่เดียวเท่านั้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุกรุงเทพ หรือ Call Center โทร.1719